“น้ำนมไม่ไหล” เสี่ยงภาวะท่อน้ำนมอุดตันหรือไม่?
“น้ำนมไม่ไหล” ปัญหาที่คุณแม่หลายๆ คนพบเจอหลังจากคลอดบุตร แน่นอนว่าการดื่มนมแม่เป็นการสร้างภูมิต้านทานที่ดีที่สุดให้กับทารกช่วงแรกเกิด เนื่องจากมีสารหลายๆ อย่างจากน้ำนมที่สามารถสร้างความแข็งแรงและภูมิคุ้มกันให้กับเด็กได้ คุณแม่หลายๆ คนมีภาวะทางร่างกายที่ดีและสามารถให้นมจากทั้งเวลาดื่มจากอกหรือแม้แต่ปั้มใส่ขวด หากแต่คุณแม่บางคนก็ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้เนื่องจากเกิดภาวะที่น้ำนมไหลไม่เพียงพอ โดยสาเหตุของภาวะนี้เกิดจากอะไรกันแน่ เป็นเพราะภาวะทางร่างกาย อาหารที่ทาน หรือภาวะโรคบางอย่างที่คุณแม่บางคนอาจไม่รู้ตัว
“น้ำนมไม่ไหล” เป็นเพราะอะไร เสี่ยงภาวะท่อนมอุดตันหรือไม่?
เชื่อว่าคุณแม่หลายๆ ท่าน กำลังประสบกับปัญหานี้อยู่ ซึ่งสาเหตุของภาวะที่น้ำนมไม่ไหลนั้นสามารถเป็นได้หลายอย่าง ซึ่งหลักๆ อาจจะเกิดจากภาวะของร่างกายคุณแม่ ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ รับประทานอาหารที่ไม่ได้กระตุ้นการกลั่นน้ำนมมากนัก จึงทำให้เกิดเหตุการณ์น้ำนมไหลน้อยหรือในบางครั้งไม่ไหลเลย ทั้งนี้ นอกจากสาเหตุเหล่านี้แล้ว ยังมี ภาวะท่อนมอุดตัน อีกหนึ่งสาเหตุที่เหล่าคุณแม่ควรสังเกตตนเองว่าเป็นภาวะนี้อยู่หรือไม่
มารู้จัก ภาวะท่อนมอุดตัน คืออะไร?
ภาวะท่อนมอุดตันนั้น มีลักษณะของท่อน้ำนมอุดตัน (blocked duct) จะเป็นก้อนไตแข็งๆ ที่บริเวณของเต้านม โดยไม่ได้เป็นทั้งเต้า เมื่อกดลงไปจะรู้สึกเจ็บและอาจบวมแดง แต่ไม่มีไข้ อาการท่อน้ำนมอุดตันนั้น เกิดจากการที่น้ำนมไหลไม่สะดวกจากการอุดตันของท่อส่งน้ำนม ซึ่งภาวะนี้สามารถสังเกตได้ง่ายๆ โดยดูจากการที่ลูกดูดนมได้ไม่สะดวกหรือดูดได้เพียง 10-20 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น โดยในบางครั้งอาจพบจุดขาวที่หัวนมของคุณแม่ได้ด้วยนั่นเอง อย่างไรก็ดี หากปล่อยภาวะนี้ไว้อาจส่งผลให้เกิดอาการเต้านมอักเสบได้ในระยะหลังด้วย
สาเหตุของการเกิดภาวะท่อนมอุดตัน
ลูกดูดนมไม่เกลี้ยงเต้า
อาจเกิดจากไม่ได้ให้ลูกดูดนมแม่บ่อย หรือจำกัดเวลาในการดูดนมของลูก นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้นมถูกถ่ายเทออกไปไม่หมดและยังคงหลงเหลืออยู่ในเต้า
คุณแม่ไม่ได้ระบายน้ำนมออก
โดยในกรณีนี้ คุณแม่มีปริมาณน้ำนมมากเกินไป และไม่ได้ระบายน้ำนมออก หรือระบายออกไม่สมดุลกับปริมาณน้ำนมที่ผลิต
เสื้อชั้นในของคุณแม่
ใส่เสื้อชั้นในที่หลวม ไม่กระชับ ทำให้เต้านมหย่อนคล้อย กดทับท่อส่งน้ำนม
คุณแม่เกิดภาวะเครียด
ซึ่งเป็นสาเหตุที่ส่งผลให้คุณแม่ผลิตน้ำนมได้น้อย เมื่อเกิดภาวะเครียด ก็อาจจะส่งผลให้ฮอร์โมนของคุณแม่ทำงานผิดปกติและส่งผลต่อการผลิตน้ำนมนั้นเอง
ลักษณะอาการ
คุณแม่ที่มีภาวะท่อนมอุดตันจะมีความรู้สึกเจ็บปวดบริเวณเต้านม เมื่อลูกดูดนม เมื่อสัมผัสจะพบกับก้อนไต ที่มีลักษณะบวมและแข็ง อาจพบ White Dot หรือจุดสีขาวบริเวณหัวนมร่วมด้วย ทั้งนี้จากที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า หากปล่อยภาวะนี้ไว้อาจส่งผลให้เกิดอาการเต้านมอักเสบได้ในระยะหลัง นั่นเอง
วิธีการดูแลตนเองสำหรับคุณแม่
คุณแม่สามารถดูแลตนเองได้ง่ายๆ ที่บ้าน เช่น การประคบอุ่น อาบน้ำอุ่น ลดอาหารที่มีไขมัน รวมถึงการนวดด้วยตัวเอง เป็นต้น
การนวดประคบอุ่น สำคัญอย่างไร
เป็นการนวดตามแนวท่อน้ำนมด้วยเทคนิคพิเศษเพื่อเปิดทางน้ำนมเดินสะดวกขึ้น รวมถึงการประคบเต้านมนั้นจะส่งผลให้หลอดเลือดบริเวณเต้านมขยายตัวและเพิ่มการไหลของน้ำนมนั่นเอง
กายภาพบำบัดเพื่อรักษาภาวะน้ำนมไม่ไหลจากการท่อตัน
อัลตราซาวด์
เนื่องจากการอัลตราซาวด์จะช่วยลดอาการปวด รวมถึงสร้างความร้อนในระดับลึกส่งผลให้เกิดการไหลเวียนเลือดภายในเต้านมของคุณแม่ดีขึ้น
นวดคลึง
เป็นการนวดคลึงบริเวณหัวนม ลานนม เต้านม และก้อนบริเวณอุดตันท่อนม เพื่อลดการอุดตันและการแข็งตัวของก้อนที่เต้านมได้ โดยนอกจากการรักษาและการดูแลตนเองเหล่านี้แล้ว คุณแม่คุณใส่ใจในเรื่องของการรับประทานอาหาร ซึ่งควรเลือกรับประทานชนิดอาหารที่ช่วยกระตุ้นให้คุณแม่ผลิตน้ำนมได้ อย่างไรก็ดี การผลิตน้ำนมจะไม่เป็นปัญหาว่าเยอะมากไปหรือน้อยไป สิ่งสำคัญคือคุณแม่ต้องคอยระบายออกหรือพยายามให้บุตรทานน้ำนมจนแน่ใจว่าไม่เหลืออยู่ในเต้าจนมากเกินไป และก่อให้เกิดภาวะนี้ได้อีก ——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- นวดประคบร้อน-เย็นไม่เหมือนกัน หากใช้ผิดอาจส่งผลเสีย
- เครื่องมือกายภาพ 5 แบบมีอะไรบ้างแต่ละแบบรักษาอย่างไร
- “ออกกำลังกายในน้ำ” กายภาพบำบัดง่ายๆ ที่มีประโยชน์กว่าที่คุณคิด