“นักกายภาพบำบัด” ทั้ง 6 ประเภทที่คุณอาจไม่เคยรู้
“นักกายภาพบำบัด” อาชีพที่ทุกๆ คนรู้จักกันในนามของผู้เชี่ยวชาญในด้านการเคลื่อนไหวของร่างกายและจะคอยเป็นผู้ช่วยเหลือให้กับผู้ป่วยที่เข้ารับการทำกายภาพบำบัดเสมอ แต่ทุกคนทราบหรือไม่ว่ากว่าจะมาเป็นนักกายภาพได้นั้นไม่ง่ายเลย เนื่องจากพวกเขาต้องศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างทางร่างกายของมนุษย์อย่างละเอียดเพื่อที่จะมาทำการรักษาให้กับคนไข้และต้องฝึกฝนหลายสิ่งทีเดียว
“นักกายภาพบำบัด”กว่าจะมาเป็นได้ไม่ใช่เรื่องง่าย
ในภาพจำของใครหลายๆ คนนั้น นักกายภาพคงไม่ได้เป็นอาชีพที่มีความสำคัญอะๆรมากมายนัก หากแต่ความเป็นจริงแล้วอาชีพนี้มีความสำคัญต่อระบบสาธารณสุข และเป็นที่นิยมระดับโลกเลยก็ว่าได้ เนื่องจากสามารถรักษาผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องทานยา ไม่ต้องฉีดยา และไม่ต้องผ่าตัดนั่นเอง ซึ่งกว่าจะเชี่ยวชาญได้เช่นนั้นนักกายภาพต้องทำการศึกษาหลายแขนงที่เกี่ยวข้องกับ “กายภาพบำบัด” ศาสตร์ทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน รักษา และจัดการเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ดังนั้น นักกายภาพจึงต้องศึกษาโครงสร้างของมนุษย์โดยละเอียด ต้องเรียนเกี่ยวกับ “กายวิภาคศาสตร์” โดยจะต้องฝึกผ่าตัดอาจารย์ใหญ่เพื่อศึกษากล้ามเนื้อและกระดูกเช่นเดียวกันกับผู้ที่เรียนหมอ อีกทั้งยังต้องนำกฎทางฟิสิกส์มาใช้รักษาร่วมด้วย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ประเทศของเรานั้นก็ยังขาดแคลนอาชีพนี้อยู่เช่นกัน
หน้าที่ของนักกายภาพมีอะไรบ้าง?
นักกายภาจะใช้ประวัติทางการรักษา และข้อมูลจากการตรวจร่างกาย เพื่อประกอบการวินิจฉัยและ ให้การรักษาโดยใช้วิธีตามหลักวิทยาศาสตร์ และเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางกายภาพบำบัด เช่น การดัด การดึง การประคบ การนวด การออกกำลังกายเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวและเพิ่มความแข็งแรง การบริหารร่างกายหรืออวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดของผู้ป่วย และหากในกรณีที่ผู้ป่วยต้องทำการรักษาที่มากกว่าการทำกายบริหาร นักกายภาพก็จะอาศัยข้อมูลและผลตรวจจากห้องปฏิบัติการทางการแพทย์เพื่อประกอบการรักษา
หน้าที่หลักๆ ของนักกายภาพ
- ช่วยตรวจสอบและค้นหาข้อบกพร่องของผู้ป่วยในด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว
- ทำการประเมินและวางแผนขั้นตอนการรักษา
- รักษาผู้ป่วยตามแผน ให้ความรู้และคำแนะนำแก่ผู้ป่วยตลอดระยะเวลาการรักษา
- กระตุ้น ฟื้นฟูทั้งสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยให้มีสุขภาพที่ดี
นักกายภาพบำบัด 6 สายงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน
1.นักกายภาพบำบัดด้านระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ
เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เช่น office syndrome, ผู้ป่วยที่มีปัญหาข้อติดเคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวก, มีอาการปวดที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ, การออกกำลังกายที่ไม่เหมาะสมหรือการบาดเจ็บจากการทำงาน, ผู้ป่วยกระดูกหักและหรือได้รับการผ่าตัด รวมถึงผู้ที่มีความพิการจากการสูญเสียอวัยวะ
2. นักกายภาพบำบัดด้านระบบประสาท
เช่น ผู้ป่วยที่มีปัญหาในการเคลื่อนไหวหรือผู้ที่มีปัญหาจากการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีสาเหตุจากความผิดปกติของระบบประสาท เช่น ผู้ป่วยอัมพาต, ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง, ผู้ป่วยเด็กที่มีปัญหาทางการเคลื่อนไหว เช่น สมองพิการแต่กำเนิด, ผู้ป่วยพาร์กินสัน รวมถึงผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุที่ทำให้สมองหรือไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ เป็นต้น
3.กายภาพบำบัดด้านระบบทรวงอกหลอดเลือดและหัวใจ (ปอดและหัวใจ)
ผู้ป่วยที่มีปัญหาในการหายใจหรือการทำงานของหัวใจ เช่น ผู้ป่วยโรคปอดที่มีเสมหะคั่งค้างหรือเกิดการติดเชื้อ, ผู้ป่วยโรคหัวใจ รวมถึงผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังผ่าตัด โดยจะรักษาด้วยการให้ฝึกไอ ฝึกหายใจ การเคาะปอด ดูดเสมหะ จัดท่า ออกกำลังกาย ฯลฯ
4.นักกายภาพบำบัดด้านกีฬา
เป็นการดูแลรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพนักกีฬาทั้งก่อน ระหว่างและหลังการแข่งขัน วางแผนการซ้อมร่วมกับผู้ฝึก เพื่อป้องกันการบาดเจ็บและให้เคลื่อนไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5.นักกายภาพบำบัดในเด็ก
ทั้งในเด็กปกติและเด็กที่เกิดมาพร้อมกับความผิดปกติของสมองทำให้มีพัฒนาการล่าช้ากว่าวัย ไม่สามารถคลาน ยืน เดิน พูด หรือกลืนอาหารได้อย่างปกติ สิ่งเหล่านี้ล้วนแก้ไข หรือบรรเทาความรุนแรงของความบกพร่องทางร่างกายในอนาคตได้ด้วยการทำกายภาพบำบัด
6. นักกายภาพบำบัดในผู้สูงอายุ
เป็นอีกสาขาที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการเข้าค่อยๆ ขยับเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุของหลายๆ ประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย นักกายภาพบำบัดที่ทำงานในด้านนี้จึงมีบทบาทอย่างมาก เช่น การออกกำลังเพื่อส่งเสริมความแข็งแรงของร่างกาย การจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการมีสุขภาพจิตที่ดี รวมทั้งการป้องกันภาวะโรคต่างๆ ที่มาพร้อมกับอายุที่มาขึ้น เช่น อัลไซเมอร์ กระดูกพรุน และกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้องต่างๆ
งานกายภาพบำบัดอื่นๆ ของนักกายภาพ
-
งานกายภาพบำบัดในชุมชน
เป็นงานกายภาพบำบัดที่เน้นการทำงานในเชิงรุก เพื่อให้การดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ หรือผู้พิการที่ด้อยโอกาสไม่สามารถเดินทางมารักษาที่โรงพยาบาลได้ การให้คำแนะนำแก่ประชาชนในงานส่งเสริมการออกกำลังกายในชุมชน
-
งานกายภาพบำบัดด้านอื่นๆ
เช่น การออกกำลังกายในสตรีตั้งครรภ์ทั้งก่อนและหลังคลอด, การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน อย่างไรก็ดี นักกายภาพบำบัดสามารถตรวจวินิจฉัยโรคได้เอง หรือทำการรักษาโดยได้รับคำสั่งจากแพทย์ในโรงพยาบาลหรือตามศูนย์ต่างๆ และบางครั้งอาจออกไปนอกสถานที่เพื่อพบปะผู้ป่วยด้วยตนเองเพื่อให้สะดวกและมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้ป่วยให้ได้มากที่สุดด้วย
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- นั่งนาน ปวดหลัง แก้ได้ไม่ยาก
- ปวดกล้ามเนื้อหลัง (Myofascial Pain Syndrome)
- ปวดหัว มึนหัว ปวดกระบอกตา คล้ายไมเกรน