นวดประคบร้อน-เย็นไม่เหมือนกัน หากใช้ผิดอาจส่งผลเสีย
“นวดประคบ” วิธีการปฐมพยาบาลอันดับแรกๆ ที่เราจะนึกถึงเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น เหตุไม่คาดฝันดังกล่าวเกิดขึ้นได้เสมอแต่สิ่งที่ตามมาด้วยคืออาการบาดเจ็บที่ไม่พึงประสงค์เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการฟกช้า ข้อเท้าพลิก-แพลง กล้ามเนื้อฉีกขาด เป็นต้น จึงไม่น่าแปลกที่การประคบจะเป็นวิธีปฐมพยาบาลแรกๆ ที่จะถูกนึกถึง อย่างไรก็ดี การประคบนั้นมีทั้งแบบร้อนและเย็น แม้จะมีวิธีการรักษาเช่นเดียวกันแต่ต้องบอกก่อนเลยว่าทั้ง 2 วิธีนี้ใช้ไม่เหมือนกัน และมิหนำซ้ำหากใช้ผิดอาจส่งผลเสียด้วย
“นวดประคบ” คืออะไร มีกี่แบบ?
การประคบ คือ การนำผ้าหรือลูกประคบมามานวดตรงบริเวณที่เกิดการบาดเจ็บ โดยหลักๆ แล้วจุดประสงค์ของการนวดหรือการประคบดังกล่าวคือเพื่อคลายความตึงและเกร็งของกล้ามเนื้อลง ทำให้เลือดเฉพาะบริเวณไหลเวียนได้ดีขึ้น รวมถึงการช่วยให้รอยฟกช้ำจางลงด้วยนั่นเอง “การประคบ” ซึ่งการประคบจะมีอยู่ 2 แบบด้วยกันคือ การประคบร้อนและการประคบเย็น โดยการประคบร้อนและการประคบเย็นก็จะมีวิธีการแตกต่างกันออกไป ดังนี้
1. นวดประคบร้อน
-
การประคบร้อน คือ…
การประคบประเภทนี้ คือ วิธีที่ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตในบริเวณที่เกิดอาการเจ็บปวด ตึง หรือเกร็ง เช่น กล้ามเนื้อ ข้อต่อ หรือเส้นเอ็น การประคบร้อนจะช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวให้ดีขึ้นโดยการช่วยให้ผ่อนคลาย เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อ หรือฟื้นฟูเนื้อเยื่อที่ได้รับความเสียหาย เป็นต้น
-
วิธีการประคบ
- เริ่มใช้หลังจากมีอาการผ่านไปแล้ว 48 ชั่วโมง
- ประคบครั้งละ 15-20 นาที วันละ 2-3 ครั้ง
- ควรใช้เจลสำหรับประคบร้อนหรือผ้าสะอาดชุบน้ำร้อนที่อุณหภูมิความร้อนไม่ควรเกิน 45 องศา
- อาการที่ควรทำประคบร้อน เช่น ปวดตึงของกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า หลัง น่อง ปวดประจำเดือน
-
ข้อดีของการประคบร้อน
ประคบร้อนจะช่วยให้การไหลเวียนโลหิตบริเวณที่ประคบดีขึ้น ซึ่งสามารถช่วยลดอาการปวดและบวมได้เป็นอย่างดี และอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้กล้ามเนื้อและข้อต่อที่ตึงหรือเกร็งคลายตัวลง และยังช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายหรือเกิดความเสียหายให้ดีขึ้นได้อีกด้วย
-
อาการที่การประคบร้อนช่วยได้
- อาการปวดข้อหรือข้ออักเสบ เพื่อบรรเทาอาการข้อฝืดและคลายกล้ามเนื้อที่เกร็งได้
- อาการปวดศีรษะหรือบริเวณต้นคอซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดศีรษะ
- อาการเคล็ดขัดยอก
- โรคเส้นเอ็นอักเสบเรื้อรัง
-
ข้อพึงระวัง
- ไม่ควรประคบด้วยความร้อนที่มากเกินไป เพราะจะทำให้รู้สึกแสบร้อนบริเวณที่ประคบ
- ไม่ควรประคบนานหรือถี่จนเกินไป
- ไม่ควรประคบร้อนตรงบริเวณที่มีหน้าแผลหรือมีเลือดไหละจะทำให้อักเสบมากขึ้น
- ควรประคบต่อเมื่อการอักเสบลดน้อยลงแล้ว
2. นวดประคบเย็น
-
การประคบเย็น คือ…
เป็นวิธีที่ช่วยลดอาการปวด บวม และอักเสบ รวมถึงช่วยห้ามเลือดได้ ซึ่งการประคบเย็นเป็นวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่สะดวกและรวดเร็ว เพราะ สามารถหาอุปกรณ์ได้ง่าย เช่น ผ้าสะอาด และ น้ำแข็ง ที่หาได้จากที่บ้านนั่นเอง อย่างไรก็ดี การประคบเย็นต้องทำด้วยการระมัดระวังเพราะมิฉะนั้นอาจส่งผลเสียแทนที่จะส่งผลดีได้ง่ายๆ
-
วิธีการประคบ
- หากมีอาการปวดหรือได้รับบาดเจ็บ ควรประคบด้วยน้ำแข็งหรือน้ำเย็นทันที (ภายใน 24-48 ชั่วโมง)
- ประคบนาน 20-30 นาที วันละ 2-3 ครั้ง
- อาการที่ควรทำประคบเย็น เช่น ปวดศีรษะ มีไข้สูง ปวดฟัน ปวดบวมข้อเท้า ข้อเคล็ด เลือดกำเดาไหล หรือ ปวดบวมบริเวณอื่นๆ ที่เกิดจากการได้รับบาดเจ็บหรือเพิ่งมีอาการใหม่ๆ
- อาจใช้เจลประคบแบบสำเร็จรูปหรืออาจประดิษฐ์อุปกรณ์ประคบขึ้นเองโดยผสมน้ำและน้ำแข็งในปริมาณที่เหมาะสมลงไปและตรวจสอบว่าไม่ได้เย็นจนเกินไปสำหรับการประคบ
-
ข้อดีของการประคบเย็น
การประคบเย็นนั้นช่วยบรรเทาอาการคัน ปวด บวม อักเสบ หรือห้ามเลือดในเบื้องต้นได้ ซึ่งช่วยจัดการกับอาการเจ็บป่วยต่างๆ ได้ อีกทั้งยังเป็นการปฐมพยาบาลที่สามารถทำได้ทั่วร่างกาย เช่น ดวงตา หน้าผาก และหลัง เป็นต้น
-
อาการที่การประคบเย็นช่วยได้
- มีไข้และปวดหัว
- โดนแมลงกัดต่อย
- มีผื่นหรือผื่นแพ้สารเคมีบางชนิด
- อาการปวดจากโรคเกาท์
- เอ็น กล้ามเนื้อ ข้อต่ออักเสบในระยะแรก
-
ข้อพึงระวัง
- ไม่ควรประคบเย็นให้กับผู้ที่มีอาการแพ้หรือไวต่อความเย็นมาก เนื่องจากจะก่อให้เกิดอาการบวม ลมพิษ และผื่นขึ้นได้ รวมทั้งอาจเกิดอาการความดันโลหิตสูงอีกด้วย
- เมื่อต้องทำการประคบใกล้ดวงตา ควรให้การระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในกรณีที่ใช้อุปกรณ์ประคบแบบสำเร็จรูปเพราะอาจมีสารเคมีเข้าตาได้
- ห้ามนอนหลับในขณะที่ประคบน้ำแข็งอยู่
- ไม่ประคบเย็นกับบาดแผลที่ได้รับการบาดเจ็บที่รุนแรง เพราะร่างกายอาจเกดการเปลี่ยนแปลงและส่งผลให้แผลมีอาการที่หนักเกินกว่าการประคบเย็นจะช่วยได้
อย่างไรก็ตาม การนวดประคบในแบบต่างๆ เป็นสิ่งที่ทุกคนควรเรียนรู้เอาไว้ เนื่องจากเป็นการปฐมพยาบาลที่ใครๆ ก็สามารถทำได้ ไม่ว่าจะทำด้วยตนเองหรือทำเพื่อรักษาให้กับผู้ที่ประสบอุบัติเหตุท่านอื่น เพราะในท้ายที่สุดหากผู้ประสบอุบัติเหตุต้องถูกนำส่งแพทย์แต่ก็เป็นสิ่งที่ดีกว่าหากการประคบเหล่านี้จะช่วยทุเลาความเจ็บปวดลง
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- นั่งนาน ปวดหลัง แก้ได้ไม่ยาก
- ปวดกล้ามเนื้อหลัง (Myofascial Pain Syndrome)
- ปวดหัว มึนหัว ปวดกระบอกตา คล้ายไมเกรน