5 ท่ายืดสลักเพชร ปวดแค่ไหนก็หายได้
“ท่ายืดสลักเพชร” ท่ากายบริหารสำหรับลดอาการปวดให้กับสลักเพชร หลายๆ คนอาจสงสัยว่าเจ้าอวัยวะที่ชื่อ สลักเพชร นี้อยู่ส่วนไหนของร่างกาย เพราะอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน ซึ่งตำแหน่งของมันนั้นจะเป็นกล้ามเนื้อเล็กๆ บริเวณก้นใกล้กับสะโพก มีหน้าที่ช่วยให้ต้นขาเคลื่อนไหวไปยังทิศทางต่าง ๆ ได้ โดยมีเส้นประสาททอดผ่านอยู่ด้านล่าง มากกว่า 80% นั่นจึงทำให้อวัยวะนี้สำคัญ
“ท่ายืดสลักเพชร” กายบริหารพิชิตอาการปวด
สลักเพชร เป็นกล้ามเนื้อเล็กๆ บริเวณก้นใกล้กับสะโพก มีหน้าที่ช่วยให้ต้นขาเคลื่อนไหวไปยังทิศทางต่าง ๆ ได้ โดยมีเส้นประสาททอดผ่านอยู่ด้านล่าง มากกว่า 80% และมีโอกาสเสี่ยงสูงมากที่เส้นประสาทของเราจะถูกกล้ามเนื้อสะโพกกดทับจนเกิดภาวะกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาทตามมาอีกด้วย
ปวดสลักเพชร คืออะไร?
คือ อาการปวดลึกบริเวณแก้มก้น และมีอาการชาร้าวลงขา ซึ่งเกิดจากกลุ่มกล้ามเนื้อบริเวณสะโพกมัดลึกมีการเกร็งตัว หรือหดตัว จากการใช้งานหนักของกล้ามเนื้อ และเกิดการกระแทกบริเวณก้น ทำให้กล้ามเนื้อดังกล่าวไปกดทับ และหนีบเส้นประสาท Sciatic ที่ลอดผ่านใต้กล้ามเนื้อสะโพกมัดลึก หรือที่มีชื่อว่า “Pirifomis” ซึ่งทำให้เกิดเป็นโรค Piriformis syndrome หรือ โรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบทับเส้นประสาทได้นั่นเอง
สาเหตุของการปวดสลักเพชร
-
การเคลื่อนไหวร่างกายส่วนของขาและสะโพกผิดท่า
เช่น การยกของหนัก การเล่นกีฬา -
การนั่งอยู่ในอิริยาบถเดิมๆ เป็นระยะเวลานานๆ
เช่น การนั่งทำงานในออฟฟิศ การขับรถติดต่อกันหลายชั่วโมง -
ได้รับอุบัติเหตุกระทบต่อบริเวณก้นและสะโพก
เช่น ลื่นล้ม และเล่นกีฬา เป็นต้น
ลักษณะอาการ
-
ปวดลึกๆ ที่แก้มก้น สะโพก ร้าวลงขา
โดยในบางรายอาจปวดลามมาถึงข้อเท้า หรืออาจมีอาการขาชา เท้าชาร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับความหนักเบา ของอาการตึง -
อาการปวด จะเป็นๆ หายๆ
แต่จะไม่หายขาด ซึ่งจะต่างจากอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทที่ปวดตลอดเวลาและอาการปวดหลังร่วมด้วย -
รู้สึกเจ็บขึ้นมาทันทีหากเคลื่อนไหวอวัยวะที่ใกล้เคียง
สามารถนอนยกขาได้ปกติ แต่เมื่อลองยกเข่าเฉียงมาที่หัวไหล่ฝั่งตรงข้ามจะรู้สึกเจ็บ เสียวแปร๊บขึ้นมา
5 ท่ายืดสลักเพชร เพื่อบรรเทาอาการปวด
-
ท่าที่ 1
นวดบริเวณจุดสลักเพชร (Piriformis Muscle) นำลูกเทนนิสวางบริเวณแก้มก้น จากนั้นนั่งทับ แล้วคลึงไปมาเบาๆ 10 ครั้ง เพื่อนวดคลายกล้ามเนื้อก้น
-
ท่าที่ 2
ยืนตรงข้างโต๊ะ จากนั้นงอเข่าขวาวางไว้บนโต๊ะ มือทั้งสองข้างจับที่ขอบโต๊ะแล้วยืดกล้ามเนื้อก้น โดยเอนตัวไปด้านหน้า เพื่อเพิ่มองศาการยืด ทำค้างไว้ 20 วินาที ทำซ้ำ 3 เซ็ท แล้วสลับข้างเป็นข้างตรงข้าม
-
ท่าที่ 3
นอนหงาย งอเข่าซ้ายไขว้ไปข้างขวา ขาขวาเหยียดตรง ใช้มือขวาจับเข่าซ้าย แล้วดึงยืดกล้ามเนื้อขาไปด้านขวา ค้างไว้ 10 วินาที ทำซ้ำ 3 เซ็ท แล้วสลับเป็นข้างตรงข้าม
-
ท่าที่ 4
นอนตะแคงข้าง จากนั้นกางขาขวาขึ้น ให้ปลายเท้าชี้ไปด้านหน้า จากนั้นยกขาค้างไว้ 10 วินาที ทำซ้ำ 3 เซ็ท แล้วสลับเป็นข้างตรงข้าม
-
ท่าที่ 5
นอนหงายชันเข่าทั้ง 2 ข้าง ไขว้ขาข้างที่ปวดขึ้นเป็นเลข 4 จากนั้นใช้มือทั้ง 2 ข้างจับใต้เข่าข้างที่ไม่ปวดแล้วดึงขาให้ชิดอกจนรู้สึกตึงที่ก้นแต่ไม่เจ็บ ยืด ค้างไว้ 15-20 นาที ทำซ้ำ 5 รอบ (ไม่ยกศีรษะหรือหัวไหล่ขึ้น)
แนวทางการดูแลตนเองด้วยวิธีอื่นๆ
-
การประคบร้อน
ซึ่งควรแผ่นประคบร้อนไปบริเวณก้นที่เราปวด ความร้อนจากแผ่นประคบจะช่วยทำให้กล้ามเนื้อโดยรอบผ่อนคลาย และยังยับยั้งอาการปวดได้อีกด้วย โดยประคบประมาณ 15- 20 นาที
-
การปรับพฤติกรรมในการทำงาน
จะเห็นได้ว่าอาการปวดที่เพิ่มมากขึ้นของโรคนี้จะเกิดขึ้นตอนนั่งทำงานเป็นหลัก เราจึงควรปรับเปลี่ยนอิริยาบถในการทำงานทุก ๆ 1-2 ชั่วโมง ให้ร่างกายได้ขยับ และเป็นการเพิ่มการไหลเวียนของกล้ามเนื้อได้นั่นเอง ท้ายที่สุด การปวดสลักเพชร ถือเป็นอีกอาการหนึ่งที่ผู้ป่วยจะมีความเจ็บปวดเป็นอย่างมาก ดังนั้น จึงควรดูแลตนเอง หมั่นออกกำลังกายและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะเป็นความเสี่ยงให้เกิดการปวดได้ อีกทั้ง หากไม่แน่ใจว่าต้องดูแลตนเองอย่างไร ก็สามารถเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือ นักกายภาพบำบัด เพื่อศึกษาแนวทางการรักษาที่ถูกต้องเพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในระยะยาวนั่นเอง
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- “เจ็บก้นกบ” จากการนั่งนานๆ อาจเป็นโรคร้ายได้
- ปวดหลังส่วนบน ลามไปถึงไหล่ ทำยังไงดี?
- “ฝังเข็ม” วิธีรักษาทางกายภาพบำบัดของโรคออฟฟิศซินโดรม