“ข้อเท้าแพลง” ต้องดูแลตัวเองอย่างไรให้ถูกต้อง?
“ข้อเท้าแพลง” อาการบาดเจ็บที่ไม่พึงประสงค์ แต่ข้อเท้าแพลงเจ้ากรรมดันเกิดขึ้นกับเราได้ตลอดเวลา โดยส่วนใหญ่แล้วเกิดเกิดอาการบาดเจ็บข้อเท้าชนิดนี้เกิดจากการเกิดอุบัติเหตุ เช่น หกล้ม สะดุด และการเล่นกีฬา เป็นต้น นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงสามารถเกิดการเจ็บข้อเท้าชนิดนี้ได้ตลอดเวลา เพราะมันอาจมาพร้อมกับการทำกิจกรรมประจำวันของเรานั่นเอง อย่าไงก็ดีเมื่อเราไม่รู้ว่าอุบัติเหตุบาดเจ็บข้อเท้าจะเกิดกับเราเมื่อไหร่ ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นกับเราทุกคนก็คือเราต้องรู้วิธีการป้องกัน วิธีการรักษาและปฐมพยาบาลเพื่อที่จะนำมาใช้ดูแลตัวเองหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น
“ข้อเท้าแพลง” เกิดจากอะไร และมีอาการอย่างไร?
ข้อเท้าแพลง คือ
คือ อาการบาดเจ็บที่ข้อเท้าซึ่งมักเกิดจากอุบัติเหตุที่ทำให้ข้อเท้าพลิก จนทำให้เอ็นช่วยยึดกระดูกระหว่างข้อเท้ากับกระดูกขาเกิดอาการยึดตึงเกินปกติหรือฉีกขาด เมื่อเกิดข้อเท้าแพลง จึงทำให้ร่างกายไม่สามารถขยับเคลื่อนไหวช่วงข้อเท้าได้ตามปกติ ผู้ป่วยข้อเท้าแพลงสามารถรักษาดูแลอาการด้วยตนเองได้ที่บ้าน หรือไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา ซึ่งขั้นตอนและวิธีการรักษาขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการข้อเท้าแพลง
สาเหตุ
ข้อเท้าแพลงเกิดจากข้อเท้าพลิกหรือเกิดเหตุที่ทำให้ข้อเท้าอยู่ในท่าผิดไปจากปกติ จนเส้นเอ็นยึดข้อเท้ากับกระดูกขาเกิดการยึดตึง หรือฉีกขาด ปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสให้เกิดข้อเท้าแพลง ได้แก่
- ก้าวพลาด หรือหกล้ม
- ทิ้งตัวลงมาผิดจังหวะจากการกระโดดหรือหมุนตัว
- การวิ่งหรือการก้าวเดินบนพื้นผิวที่ขรุขระ
- การสวมใส่ถุงเท้าหรือรองเท้าที่ไม่พอดีกับเท้า
- การออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬาที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุกระทบกระเทือนจนข้อเท้าแพลงได้ เช่น การเล่นเทนนิส บาสเก็ตบอล ฟุตบอล
- การมีภาวะน้ำหนักตัวเกินหรือมากเกินไป อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุจนข้อเท้าแพลงได้ง่ายยิ่งขึ้น
- เคยประสบอุบัติเหตุ หรือมีอาการบาดเจ็บบริเวณข้อเท้ามาก่อน
อาการ
- เจ็บปวดบริเวณข้อเท้าที่แพลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลงน้ำหนักที่เท้าหรือได้รับแรงกด
- ข้อเท้าบวม
- บริเวณข้อเท้าที่แพลงมีรอยช้ำเลือด หรือผิวหนังบริเวณนั้นมีสีที่เปลี่ยนไป
- ข้อเท้าบริเวณที่แพลงเกิดอาการยึดตึงและไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ
- ในบางครั้ง ผู้ป่วยอาจได้ยินเสียงเส้นเอ็นพลิกในขณะที่เกิดข้อเท้าแพลง
ระดับของอาการเจ็บปวด
-
ระดับที่ 1
มีการยืดหรือขาดของเอ็นเพียงเล็กน้อย อาจจะพบเพียงบวมและกดเจ็บบริเวณเอ็นที่ได้รับบาดเจ็บยังสามารถเดินลงน้ำหนักได้ตามปกติ มักจะหายภายใน 2 อาทิตย์
-
ระดับที่ 2
จะมีการฉีกขาดของเอ็นเพียงบางส่วน (โดยปกติจะไม่เกินร้อยละ 50) ในกลุ่มนี้จะปวดและบวมค่อนข้างมากจนอาจจะทำให้เดินลงน้ำหนักไม่ค่อยได้ มักจะหายใน 4 – 6 อาทิตย์
-
ระดับที่ 3
ซึ่งถือว่ารุนแรงที่สุด จะมีการฉีกขาดของเอ็นทั้งหมด มักจะพบว่าไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้ และส่วนใหญ่จะพบว่ามีความหลวมของข้อ อาจต้องใช้เวลาในการรักษา 6 – 10 เดือนจึงจะหายสนิท แล้วถ้าไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมก็จะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนค่อนข้างสูงมาก
แนวทางการรักษาอาการข้อเท้าแพลง
-
รับประทานยา
หากผู้ป่วยเจ็บปวดจากอาการข้อเท้าแพลง ให้รับประทานยาแก้ปวดที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา เพื่อบรรเทาความเจ็บปวด เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน นาพรอกเซน
-
พันรัดบริเวณข้อเท้าแพลง
ใช้ผ้ายืดพันรัดรอบบริเวณที่ข้อเท้าแพลง เพื่อลดอาการบวม ให้พันผ้าไว้จนกว่าอาการบวมจะหายไป โดยระมัดระวังไม่พันรัดรอบข้อเท้าจนแน่นเกินไป เพื่อป้องกันปัญหาการไหลเวียนของเลือด
-
ประคบเย็น
ใช้ถุงน้ำแข็งหรือผ้าชุบน้ำเย็นประคบบริเวณที่ข้อเท้าแพลงเป็นเวลา 15-20 นาที และประคบซ้ำทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง ประมาณ 3-4 ครั้ง/วัน ในวันแรกที่ข้อเท้าแพลง หลังจากนั้นให้ประคบเย็นอีกทุก ๆ 3-4 ชั่วโมงใน 2 วันให้หลัง แต่หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวหรือกำลังป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด โรคเบาหวาน หรืออาการป่วยทางประสาทสัมผัสการรับรู้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรักษาด้วยวิธีนี้
-
ยกข้อเท้าขึ้น
ควรยกข้อเท้าขึ้นหรือใช้หมอนช่วยรองให้ข้อเท้าอยู่ในระดับที่สูงกว่าหัวใจขณะนอนราบ เนื่องจากแรงโน้มถ่วงจะช่วยให้ของเหลวส่วนเกินที่คั่งอยู่ไหลออกจากบริเวณที่บาดเจ็บ ทำให้อาการบวมลดลงได้
-
พักผ่อน
เพื่อให้ข้อเท้าที่บาดเจ็บได้พักฟื้น ควรพักผ่อนอย่างเพียงพอ และหลีกเลี่ยงกิจกรรมต่าง ๆ ที่อาจเพิ่มน้ำหนัก แรงกด หรือการกระทบกระเทือนที่อาจทำให้ข้อเท้าบาดเจ็บซ้ำอีก
-
การบำบัด
หลังอาการบวมและบาดเจ็บหายไป ผู้ป่วยอาจต้องฝึกออกกำลังเคลื่อนไหวร่างกายโดยเฉพาะบริหารบริเวณข้อเท้า เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ความยืดหยุ่นของเอ็นและกล้ามเนื้อ และฝึกการทรงตัวให้กลับมาเป็นปกติดังเดิมภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด
การทำกายบริหารง่ายๆ เพื่อบรรเทาอาการปวด
-
การบริหารกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อเท้า
- เคลื่อนไหว 6 ทิศทาง กระดกขึ้น – ลง บิดเท้าเข้า บิดเท้าออก หมุนเท้าวนเข้า และ หมุนเท้าวน ออก หรือ อาจใช้วิธีบริหารโดยเคลื่อนไหว ปลายเท้า เหมือนกับการเขียนตัวหนังสือขนาดใหญ่ๆ ก็ได้
- บริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรง โดย เกร็งกล้ามเนื้อค้างไว้ประมาณ 5 – 10 วินาที ใน 4 ทิศทาง คือ กระดกขึ้น – ลง บิดเท้าเข้าด้านใน และบิดเท้าออกด้านนอก
-
การบริหารประสาทรับความรู้สึกของข้อเท้า
ยืน หรือ นั่ง แล้วให้ลงน้ำหนักเล็กน้อยบนเท้าข้างที่บาดเจ็บ โดยเน้นลงน้ำหนักตามส่วนต่างๆ ของเท้า คือ ส้นเท้า ปลายเท้า ด้านในเท้า ด้านนอกเท้า ทำสลับกัน ประมาณ 10 รอบ
การป้องกันอาการข้อเท้าแพลง
การป้องกันข้อเท้าแพลงสามารถทำได้ง่ายๆ โดยเริ่มต้นจากกัารปรับปลี่ยนกิจกรรมในแต่ละวัน เช่น ไม่เล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมที่ตนไม่ถนัด หรือไม่เหมาะสมกับตนเอง หมั่นออกกำลังกายเพื่อฝึกการเคลื่อนไหวร่างกายและการทรงตัว บริหารกล้ามเนื้อและเอ็นส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย เพื่อรักษาความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ เป็นต้น และหากมีอาการข้อเท้าแพลง หรือสงสัยว่าอาจเกิดข้อเท้าแพลง ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อให้การรักษามีประสิทธิผลโดยเร็วที่สุด ท้ายที่สุด การป้องกันและการดูแลตนเองเป็นสิ่งสำคัญ เพราะ “การกันไว้ดีกว่าแก้” นั้นย่อมดีกว่า แต่อย่างไรก็ดีการเกิดอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถห้ามได้ ดังนั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่จำเป็นก็คือการปฐมพยาบาลหากทำได้อย่างถูกวิธีก็จะยิ่งเพิ่มความปลอดภัยและบรรเทาอาการเจ็บ
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- นั่งนาน ปวดหลัง แก้ได้ไม่ยาก
- ปวดกล้ามเนื้อหลัง (Myofascial Pain Syndrome)
- ปวดหัว มึนหัว ปวดกระบอกตา คล้ายไมเกรน