“การรักษาด้วยไฟฟ้า” กายภาพบำบัดทั้ง 6 แบบมีอะไรบ้าง
“การรักษาด้วยไฟฟ้า” (Electrotherapy) เป็นศาสตร์ที่สำคัญของวิชาชีพกายภาพบำบัด ซึ่งนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในโรงพยาบาลและคลินิก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบำบัด ความเจ็บปวดของระบบกล้ามเนื้อและโครงร่าง กระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อร่วมกับการฝึกการเรียนรู้การเคลื่อนไหวและการซ่อมแซมบาดแผลของเนื้อเยื่ออ่อนนุ่มนั่นเอง
“การรักษาด้วยไฟฟ้า” ในการทำกายภาพบำบัดคืออะไร?
จากที่กล่าวไปข้างต้นว่า “การรักษากายภาพบำบัดด้วยไฟฟ้า” นั้นมีจุดประสงค์เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดทางกายภาพของร่างกายผู้เข้ารับการรักษา โดยในขั้นตอนการรักษานั้น ไฟฟ้า ซึ่งถือว่าเป็นพลังงานรูปแบบหนึ่งจะถูกนำมากระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยากับระบบกล้ามเนื้อของผู้เข้ารับการรักษา ซึ่งไฟฟ้าสามารถทำให้เกิดผลต่อเนื้อเยื้อต่างๆของร่างกายได้โดยเฉพาะเส้นประสาทต่างๆ และระบบกล้ามเนื้อ ทั้งนี้การรักษาด้วยไฟฟ้าจะส่งผลมากน้อยจะมากน้อยก็จะขึ้นอยู่กับ ความเข้ม ความถี่ และชนิดของกระแสไฟฟ้า รวมถึงตำแหน่งของร่างกายที่ถูกรักษาด้วย
การรักษากายภาพบำบัดด้วยไฟฟ้า มีกี่แบบ?
การรักษาด้วยกระแสไฟฟ้าในเชิงการบำบัดรักษานั้น สามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภท คือ
1. Electrotherapy
เป็นการนำไฟฟ้ามาเพื่อบำบัดโรคและอาการบาดเจ็บต่างๆ ซึ่งจะเป็นประเภทที่ถูกใช้กับการทำกายภาพบำบัดนั่นเอง
2. Electrodiagnosis
เป็นการใช้กระแสไฟฟ้าในการกระตุ้นเพื่อการวินิจฉัยโรค โดยการแปลผลจากการตอบสนองของเส้นประสาท และกล้ามเนื้อ
3. Electromyography (EMG)
เป็นการบันทึกการตอบสนองที่ได้จากการทำงานของ motor unit ออกมาในรูปของกระแสไฟฟ้า
กลไกของการรักษาด้วยไฟฟ้า
ตามปกติร่างกายของเราจะใช้โปรตีนในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย โดยโปรตีนจะถูกสังเคราะห์เพิ่มมากขึ้นเมื่อได้รับการกระตุ้นไฟฟ้า เมื่อถูกเหนี่ยวนำด้วยพลังงานไฟฟ้าจากภายนอก จะไปเร่งขบวนการเมตาบอลิซึม (Metabolism) และเร่งขบวนการลำเลียงสารอาหารเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเส้นประสาทซึ่งตามปกติจะสามารถถูกเร้าต่อเมื่อมีกระแสไฟฟ้าผ่าน โดยเมื่อได้รับพลังงานไฟฟ้าจากภายนอก จะสามารถเร้าเส้นประสาทที่อยู่ส่วนปลายด้วยเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าผ่านผิวหนัง ทำให้เกิดการตอบสนองการตื่นตัวของเส้นประสาทได้
มารู้จัก! การรักษาด้วยไฟฟ้าโดยการกระตุ้นทางกายภาพบำบัด ทั้ง 6 แบบ
1. Electrical muscle stimulation (EMS)
เป็นการใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าในการรักษากล้ามเนื้อที่ขาดเส้นประสาทมาเลี้ยงเพื่อรักษาสภาพของกล้ามเนื้อ ชะลอการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อหรือเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ในกล้ามเนื้อที่ขาดเส้นประสาทมาเลี้ยงบางส่วน
2. Electrical stimulation for tissue repaired (ESTR)
ใช้กระแสไฟฟ้าเพื่อลดอาการบวมเพิ่มการไหลเวียนเลือดและเร่งการสมานแผล
3. Neuromuscular electrical stimulation (NMES)
คือการใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นกล้ามเนื้อที่มีเส้นประสาทมาเลี้ยงปกติเพื่อคงไว้ซึ่งการทำงานของกล้ามเนื้อ ได้แก่ การเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ การชะลอการฝ่อลีบ หรือป้องกันการฝ่อลีบของกล้ามเนื้ออันเนื่องมาจากการไม่ได้ใช้งาน และการเรียนรู้การทำงานของกล้ามเนื้อ มักใช้ในกรณีที่มีการย้ายเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อ
4. Functional electrical stimulation (FES)
เป็นการใช้กระแสไฟฟ้าในการกระตุ้นเพื่อชี้นำการเคลื่อนไหวที่ต้องการ คือการใช้กระแสไฟเปรียบเสมือนเป็น orthotic เพื่อให้เกิดการทำงานของกล้ามเนื้อส่วนที่ต้องการ
5. Trancutaneous electrical nerve stimulation (TENS)
เป็นการใช้กระแสไฟฟ้าในการกระตุ้นเพื่อลดอาการปวด
6. Iontophoresis
คือเทคนิคการใช้กระแสไฟฟ้าในการผลักดันตัวยาบางชนิด ที่มีคุณสมบัติแตกตัวเป็นประจุได้ เมื่ออยู่ในสารละลาย โดยมากใช้เพื่อการลดปวดเฉพาะที่ ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อเฉพาะที่ได้ และใช้ในการรักษาโรคผิวหนังบางชนิด เป็นต้น
ประโยชน์ของการทำกายภาพบำบัดโดยการรักษาด้วยไฟฟ้า
– เพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อที่มีเส้นประสาทไปเลี้ยง
– เพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อที่ขาดเส้นประสาทไปเลี้ยง มีการบาดเจ็บของเส้นประสาท หรือเกิดการติดเชื้อของเส้นประสาท ให้ทำหน้าที่ได้
– เพื่อซ่อมแซมเนื้อเยื้อและควบคุมการบวม
– เพื่อช่วยการเคลื่อนไหว หรือ เลียนแบบการเคลื่อนไหวในผู้ป่วยที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เอง
อย่างไรก็ดี การรักษาด้วยไฟฟ้า นั้นเป็นอีกหนึ่งทางเลือกหนึ่งของการทำกายภาพบำบัดเท่านั้น ยังมีการรักษาอีกหลายรูปแบบที่ผู้ต้องการเข้ารับการรักษาสามารถสอบถามแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ หรืแนักกายภาพบำบัดตามคลินิดได้ เพื่อหาวิธีที่เหมาะสมและฟื้นฟูให้สุขภาพของตนเองนั้นดีขึ้นได้นั่นเอง
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- นั่งนาน ปวดหลัง แก้ได้ไม่ยาก
- ปวดกล้ามเนื้อหลัง (Myofascial Pain Syndrome)
- ปวดหัว มึนหัว ปวดกระบอกตา คล้ายไมเกรน