“กายภาพบำบัดเด็ก” ช่วยสร้างพัฒนาการให้กับเด็กได้จริงมั้ย?
“กายภาพบำบัดเด็ก” ทุกๆ คนคงเคยได้ยินหรือรู้จักเกี่ยวกับ “กายภาพบำบัด” มาพอสมควร ซึ่งบ้างก็เป็นกายภาพสำหรับผู้ป่วยติดเตียง บ้างก็เป็นกายภาพสำหรับผู้สูงอายุ และบ้างก็เป็นกายภาพสำหรับผู้สูงอายุ อย่างไรก็ดี สำหรับเด็กๆ แล้วก็มีการทำกายภาพสำหรับพวกเขาเช่นเดียวกัน ซึ่งในการทำกายภาพบำบัดให้กับเด็กนั้นก็จะมีจุดประสงค์ที่แตกต่างกันออกไปไม่ว่าจะเป็นเสริมสร้างแข็งแรงให้กับร่างกายหรือเสริมสร้างพัฒนาการต่างๆ
“กายภาพบำบัดเด็ก” คืออะไร มีประโยชน์อย่างไรกับเด็กบ้าง?
กายภาพบำบัดในเด็ก ให้บริการโดยการตรวจร่างกาย วิเคราะห์ปัญหา เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ฝึกควบคุมการเคลื่อนไหว ฝึกการทรงตัวขณะนั่ง ยืน และฝึกเดินด้วยเทคนิคเฉพาะ เพื่อให้เด็กสามารถช่วยเหลือตนเอง และทำกิจวัตรประจำวันได้ปกติ หรือใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด
เด็กคนไหนบ้างที่เหมาะกับการทำทำกายภาพ
- เด็กหัวโต หรือหัวบาตร
- เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า
- เด็กสมองพิการ
- เด็กคอเอียงแต่กำเนิด
- เด็กดาวน์ซินโดรม
- เด็กกล้ามเนื้อลีบดูเชน เด็กที่มีความผิดปกติที่เกิดจากการสร้างหลอดประสาทที่ไม่สมบูรณ์
การรักษาทางกายภาพสำหรับเด็กมีประโยชน์อย่างไรบ้าง?
กายภาพบำบัดมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวมีพัฒนาการในด้านต่างๆ โดยเฉพาะพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวได้ใกล้เคียง หรือเท่ากับเด็กปกติมากที่สุด ตลอดจนเพื่อให้เด็กสามารถช่วยเหลือตนเองและใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข ซึ่งเทคนิควิธีการทางกายภาพบำบัดเพื่อใช้กระตุ้นพัฒนาการเด็กด้านการเคลื่อนไหวสามารถทำได้หลายวิธีกายภาพบำบัดเพื่อพัฒนาด้านการเคลื่อนไหวของเด็กผ่านกิจกรรมการเล่น ซึ่งเป็นแนวคิดหนึ่งที่มีความสำคัญ เพราะนักกายภาพบำบัดสามารถใช้การเล่นเข้ามามีส่วนร่วมในการบำบัดฟื้นฟูเพื่อช่วยให้เด็กเกิดความอบอุ่นใจ รู้สึกไว้วางใจ ให้ความร่วมมือในการฝึก และช่วยพัฒนาความสามารถทางการเคลื่อนไหวของเด็กได้การเล่นจึงจำเป็นสำหรับเด็กทุกคนทั่วไป เพื่อที่จะพัฒนาไปเป็นความชำนาญในขั้นที่สูงขึ้น และยังมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเด็กที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวอีกด้วย
ผลจากการทำกายภาพบำบัด
เด็กเล็กหากได้รับการดูแลและกระตุ้นพัฒนาการอย่างครบถ้วนเหมาะสมตามวัยแล้ว แม้เด็กอาจมีพยาธิสภาพ หรือเสี่ยงต่อการล่าช้าในด้านพัฒนาการ ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาให้ไม่รุนแรง และเด็กบางรายผ่านการฝึกฝน พบว่าสมองสามารถเรียนรู้ปรับตัว ทำให้พัฒนาการใกล้เคียงเด็กปกติได้ หากเด็กมีรอยโรคเกิดขึ้นในสมอง แต่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการการเคลื่อนไหวตามวัยอย่างถูกต้อง คอยสอนให้เด็กยับยั้งไม่ให้เกิดการใช้แบบแผนของพยาธิสภาพ เช่น การอ่อนปวกเปียก การเกร็ง การกระตุก การเคลื่อนไหวที่ควบคุมไม่ได้ เด็กสามารถเรียนรู้ที่จะควบคุมได้ดีขึ้น การเปลี่ยนแปลงในทางที่ใกล้เคียงกับแบบแผนปกติสามารถเกิดขึ้นได้ จำเป็นที่ผู้ดูแลควรต้องมีความเข้าใจ สังเกตลักษณะที่ไม่ควรให้เด็กอยู่ในท่าทางที่ผิดปกติและจับต้องร่างกาย การอุ้ม การช่วยเหลือเด็กอย่างถูกต้อง ใช้การเล่น การกระตุ้น การเร่งเร้าที่เหมาะสมตามลำดับ ก็จะช่วยป้องกันปัญหาความรุนแรง การล่าช้า หรือการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติได้การสังเกตพัฒนาการการเคลื่อนไหวที่สำคัญในเด็กเล็ก ซึ่งพ่อแม่ ผู้ปกครอง ดูแลควรเห็นได้ชัดเจน สามารถฝึกฝนให้เด็กทำได้เช่นกัน
พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวของเด็กตามปกติ
• อายุ 1 เดือนแรก เด็กนอนหงายหันศีรษะได้ทั้งสองข้าง • อายุ2 เดือน นอนหงายชูมือไปข้างหน้าทั้งสองข้าง จับนอนคว่ำยันแขนท่อนล่างยกศีรษะคางพ้นพื้นหันหน้าไปทั้งซ้าย – ขวา • อายุ 3 เดือน นอนหงายชูมือไปข้างหน้าทั้งสองข้าง ขาเตะสลับทั้งสองข้าง จับนอนคว่ำยันแขนท่อนล่าง ยกศีรษะตรงพ้นพื้น • อายุ4 เดือน นอนหงายชูมือมาจับกันตรงกลาง จับขวดนม เตะขาสองข้างเท้าลอยพ้นพื้น มือแตะเข่าจับเท้า ช่วยให้นอนคว่ำ ยันแขนท่อนล่าง เอื้อมมือไปแตะของเล่น เริ่มใช้มือยัน มีการเอี้ยวลำตัว • อายุ5 เดือน นอนหงายยกศีรษะพ้นพื้น จับนอนคว่ำยันมือ เตะขา เอี้ยวตัวมานอนหงาย ชูมือซ้ายจับ เท้าขวา มือขวาจับเท้าซ้าย • อายุ6 เดือน นอนหงายตะแคงมาคว่ำ กลิ้ง จับนั่งกางขามือยันพื้น หลังโก่ง • อายุ7 เดือน นั่งเล่น มือไม่ยันพื้น หลังตรง นอนคว่ำ ยันแขน ถีบเท้า คืบไปข้างหน้า • อายุ8 เดือน คลานสลับ มือซ้าย เข่าขวา มือขวา เข่าซ้าย ยันมือมานั่ง และปรับท่าไปคลาน • อายุ 9 เดือน นั่ง เปลี่ยนท่าเป็นพับเพียบ เกาะ ชันเข่าลุกขึ้น เกาะยืน • อายุ 10 เดือน นั่งเล่น หยิบของชิ้นเล็ก (ระวังเอาเข้าปาก จมูก) เกาะเดินไปด้านข้าง • อายุ 11 – 12 เดือน ยืนได้เอง เริ่มเดินก้าวสั้นๆ อย่างไรก็ดี เด็กควรได้รับการกระตุ้นด้วยของเล่นอย่างเหมาะสมตามลำดับ ผู้ดูแลไม่ควรทำทุกอย่างให้เด็กทั้งหมดทำให้เด็กขาดโอกาสฝึกฝน การรอคอย ช่วงเวลาที่เด็กกำลังเรียนรู้ การสอนให้เด็กใช้แบบแผนการเคลื่อนไหวถูกต้องเป็นสิ่งที่จำเป็น เซลล์สมองที่ดีก็จะเพิ่มความสามารถในการรับรู้ ควบคุมส่วนที่เป็นปัญหาได้มากขึ้น
กรณีเด็กมีปัญหาบางประเภท
ข้อควรสนใจกระตุ้นพัฒนาการการเคลื่อนไหวเบื้องต้น เช่น
1. เด็กค่อนข้างอ่อนปวกเปียก
ควรกระตุ้นให้เคลื่อนไหวแขน ขา ลำตัว ทรงศีรษะตรงกลาง ลำตัวตรงต้านแรงดึงดูดของโลกได้เอง ยันมือ ยันเท้า
2. เด็กเกร็ง
ควรยับยั้งการยึดติดบริเวณสะบัก และสะโพก เร่งเร้าให้ยื่นแขนให้สุด คว่ำบนหมอนข้างเอื้อมมือไปอีกด้าน เตะขาสลับ มือซ้ายจับเท้าขวา มือขวาจับเท้าซ้าย คลานสลับ จะช่วยเตรียมสู่แบบแผนการเดิน ควรหลีกเลี่ยงการเกร็ง เช่น การคืบเกร็งลากเท้า การกลิ้งตัวเป็นท่อน ไม่ควรปล่อยให้อยู่ท่าใดท่าหนึ่งนาน จะเพิ่มการยึดติด ควรให้เคลื่อนไหวหลากหลาย หมุนลำตัว นั่งคร่อมหมอนข้างกางขาเท้าลอยพ้นพื้น เป็นต้น
3. เด็กกระตุก
ปลายมือ ปลายเท้ามีการเคลื่อนไหวที่ควบคุมไม่ได้ ควรต้องยับยั้งอาการเหล่านี้ โดยการนั่งยันมือ ยันเท้า ลงน้ำหนัก นั่งนิ่ง ช่วยจับยืน ยืนหลังพิงข้างฝาให้นานขึ้น บางรายศีรษะสั่นส่ายไปมาควรจับศีรษะให้นิ่งก่อน จะมีผลให้มือและเท้าเคลื่อนไหวน้อยลงด้วย ท้ายที่สุด การให้เวลาฝึกฝนเด็กตั้งแต่แรก เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก มีผลต่อกระบวนการเรียนรู้ในพัฒนาการด้านต่างๆ โดยเฉพาะการทรงท่า การเคลื่อนไหว และปฏิกิริยาอัตโนมัติ ในแบบแผนที่ปกติ พ่อแม่ผู้ปกครองเด็กเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญที่สุด ในการตัดสินใจลงมือฝึกฝนร่วมกันเป็นทีมงาน ซึ่งจะช่วย ให้เด็กมีพัฒนาการตามลำดับ ป้องกันปัญหาสุขภาพซ้ำซ้อน ทั้งเด็กและครอบครัวก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วยนั่นเอง อ้างอิง กรกฏ เห็นแสงวิไล. (2561). กายภาพบำบัดกับพัฒนาการการเคลื่อนไหวในเด็กเล็ก. สืบค้นจาก http://www.ams.cmu.ac.th/pt/index.php/th/personnel-th/administrativestaff/knowledge : สืบค้นเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 กรกฏ เห็นแสงวิไล. (2559). เอกสารประกอบการสอนกายภาพบำบัดเด็ก. เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. แจ่มจันทร์ กุลวิจิตร. (2555). บทความวิจัยภาวะสุขภาพและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะสุขภาพ ของเด็กที่รับบริการที่ฝ่ายพัฒนาเด็กปฐมวัย. ปีที่ 32 ฉบับที่ 1 (มกราคม – เมษายน 2555) วิทยาลัยพยาบาลสงขลานครินทร์
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- ลูก คอเอียง ทำยังไงดี ภาวะในเด็กที่ไม่ควรมองข้าม
- “น้ำนมไม่ไหล” เสี่ยงภาวะท่อน้ำนมอุดตันหรือไม่?
- “สมองพิการ” กับการทำกายภาพ ยิ่งทำยิ่งส่งผลดี