กล้ามเนื้อฉีก ไหล่ มีปัญหา มีสาเหตุมาจากเส้นเอ็นหรือไม่?
กล้ามเนื้อฉีก ไหล่ มีปัญหา อาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ใช่เพียงนักกีฬาเท่านั้น ซึ่งก็จะมีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป เนื่องจากแต่ละคนนั้นมีกิจวัตรประจำวันที่ไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ดีการบาดเจ็บลักษณะนี้ แม้ดูไม่มีอาการที่รุนแรงแต่ก็ส่งผลต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก เพราะผู้ป่วยจะเกิดอาการปวดและไม่สามารถใช้งานหัวไหล่ได้ตามปกติ ดังนั้น หากไม่อยากมีปัญหากล้ามเนื้อที่หัวไหล่ทุกคนจึงควรทำความเข้าใจกับสาเหตุ และอาการเพื่อการป้องกันที่ถูกต้อง
กล้ามเนื้อฉีก ไหล่ เจ็บและมีปัญหา เกิดจากสาเหตุอะไร อันตรายหรือไม่?
โดยทั่วไปแล้ว เมื่อผู้ป่วยเกิดอาการปวดที่หัวไหล่ แน่นอนว่าอาการที่น่าสงสัยเป็นอันดับแรกๆ ก็คือภาวะ กล้ามเนื้อฉีก ซึ่งสาเหตุของการเกิดการบาดเจ็บเช่นนี้มักมาจากการที่เราใช้หัวไหล่หนักจนเกินไป หรือ เกิดการยืดจนเกินไป ซ้ำๆ กันอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้เกิดการปวดหัวไหล่และใช้งานได้ไม่ถนัด อีกทั้ง ในกรณีที่แย่กว่าคือ อาการกล้ามเนื้อฉีกไม่ได้เกิดจากแค่เพียงกล้ามเนื้อ แต่ยังรวมไปถึง เส้นเอ็น ที่อาจฉีกขาดได้เช่นกัน
เอ็นข้อไหล่ คือ…
กลุ่มเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณไหล่ที่ทำหน้าที่เชื่อมระหว่าง humerus (แขนบน) และ scapula (ไหปลาร้า) เข้าด้วยกัน เอ็นกลุ่มนี้ทำให้หัวไหล่มีความแข็งแรงและทำให้กล้ามเนื้อหัวไหล่หมุนได้
อาการเจ็บหัวไหล่อันเนื่องมากจาก “เอ็นไหล่ฉีก”
ไม่ว่าจะเป็นอาการเจ็บแบบรู้สึกแปลบขึ้นมาเฉพาะเวลาใช้แขน หรือเจ็บถึงขนาดไม่สามารถนอนหลับได้ ไปจนกระทั่งไม่สามารถเคลื่อนไหวแขนได้อย่างที่เคยทำหรือไม่สามารถกางแขนออกข้างลำตัวได้เลย อาการเหล่านี้อาจเนื่องมาจาก “เอ็นข้อไหล่ฉีก” ซึ่งเกิดได้จากการที่เอ็นข้อไหล่มีการเสื่อมสภาพตามกาลเวลา รวมถึงการออกแรงที่บริเวณหัวไหล่มากเกินไปจนทำให้เกิดการบาดเจ็บ
สาเหตุของ เอ็นไหล่ฉีก เกิดจาก
การเคลื่อนไหวของหัวไหล่อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน
เมื่อร่วมกับการเสื่อมสภาพของเอ็นข้อไหล่จะทำให้อาการแย่ลงเรื่อยๆ โดยสาเหตุนี้จะพบได้ในนักกีฬาที่ต้องเขวี้ยงมือเป็นประจำ เช่น นักเบสบอล รวมถึงการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น เช็ดหน้าต่าง ล้างรถ ทาสี หากต้องทำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานก็สามารถทำให้เกิดเอ็นข้อไหล่ฉีกได้
จากอุบัติเหตุ
เช่น ล้มลงขณะที่แขนเหยียดเท้าพื้น หรือไหล่แขนกระแทกแล้วมีการหดตัวของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นอย่างรุนแรง
การออกแรงมากเกินไป
โดยเป็นแรงที่เกิดจากความพยายามที่จะจับวัตถุที่กำลังหล่นลงมาหรือยกวัตถุที่หนักมากด้วยมือที่ยืดออก รวมถึงแรงที่เกิดจากการตกกระแทกลงบนไหล่โดยตรง
การเสื่อมสภาพของเอ็นข้อไหล่ตามกาลเวลา
เนื่องจากส่วนของร่างกายเราถ้ามีเลือดไปเลี้ยงมากจะมีการรักษาตัวเองได้มากและเร็วขึ้น แต่เอ็นข้อไหล่เป็นส่วนที่มีเลือดไปหล่อเลี้ยงน้อย กลุ่มเส้นเอ็นจึงเปราะและฉีกขาดได้ง่าย
ลักษณะของการฉีกขาดของเส้นเอ็นหัวไหล่ที่อาจเกิดขึ้น
-
เส้นเอ็นฉีกขาดบางส่วน (Partial Rotator Cuff Tear)
-
เส้นเอ็นฉีกขาดตลอดความหนา (Full Thickness Rotator Cuff Tear)
-
เส้นเอ็นฉีกขาดขนาดใหญ่ (Massive Rotator Cuff Tear) ซึ่งมักจะมีการหดรั้งของตัวกล้ามเนื้อและปลายเส้นเอ็นที่ฉีกขาดไปไกลจากตำแหน่งเกาะเดิม
ลักษณะอาการ
อาการทั่วไป
เมื่อเกิดเอ็นข้อไหล่ฉีก ผู้ป่วยจะมีอาการที่พบได้คือ อาการเจ็บปวดและหัวไหล่ข้างนั้นอ่อนแรง โดยยิ่งมีรอยฉีกมากเท่าไรก็จะยิ่งเจ็บปวดและมีอาการอ่อนแรงมากขึ้นเท่านั้น ในผู้ที่มีเอ็นข้อไหล่ฉีกเพียงบางส่วนอาจรู้สึกเจ็บแต่ผู้ป่วยยังสามารถเคลื่อนไหวแขนได้เป็นปกติ ในขณะที่ผู้ที่มีเอ็นข้อไหล่ฉีกทั้งหมดอาจไม่สามารถเคลื่อนไหวแขนได้อย่างที่เคยทำหรือไม่สามารถกางแขนออกข้างลำตัวได้เลย
กรณีฉีกขาดจากอุบัติเหตุ
การฉีกขาดที่เกิดจากอุบัติเหตุมักจะมีอาการเจ็บทันทีหลังอุบัติเหตุ หรือมีเสียงดังในไหล่ขณะเกิดอุบัติเหตุ และอาจมีอาการอ่อนแรงทันที
กรณีฉีกขาดจากความเสื่อมของเส้นเอ็น
อาการปวดจะค่อยเป็นค่อยไป ตอนแรกอาจปวดไม่มากหรือหายไปเอง ต่อมาอาการปวดอาตรุนแรงขึ้นหรือถี่ขึ้น มีความยากลำบากในการใช้งานมากขึ้นหรือไหล่ติดมากขึ้น และมีอาการปวดตอนนอนตะแคงมากขึ้น
อาการอื่นๆ ที่พบบ่อย
-
ปวดเวลานอน โดยเฉพาะตอนนอนตะแคงทับ
-
ปวดเวลายกแขนขึ้นหรือลงในบางท่า
-
อ่อนแรงในขณะยกหรือหมุนหัวไหล่
-
เสียงเสียดสีในขณะขยับบางท่าของไหล่
แนวทางการรักษา
-
การรักษาแบบไม่ผ่าตัด
การพักผ่อนและการใช้ยาแก้อักเสบ
เช่น aspirin หรือ ibuprofen เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมความเจ็บปวดและการอักเสบ แต่หากผู้ป่วยใช้ยากลุ่มนี้แล้วอาการเจ็บปวดไม่ทุเลาลง แพทย์อาจแนะนำให้ฉีดยา cortisone
การทำกายภาพบำบัด
แพทย์อาจปรึกษานักกายภาพบำบัดเพื่อให้ช่วยกำหนดโปรแกรมการฟื้นฟูให้แก่ผู้ป่วย ในขั้นแรกจะเป็นการลดความเจ็บปวดและการอักเสบด้วยการประคบร้อนหรือประคบเย็น จากนั้นจึงเป็นการรักษาด้วยการออกกำลังกายในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้หัวไหล่ขยับได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในขั้นต่อไปผู้ป่วยจะเริ่มออกกำลังเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและเพื่อให้สามารถควบคุมเอ็นข้อไหล่และกล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่ได้มากขึ้น นักกายภาพบำบัดจะช่วยถนอมกล้ามเนื้อสามารถกลับมาเคลื่อนไหวไหล่ได้ตามปกติอีกครั้ง
ข้อดี
สามารถหลีกเลี่ยงภาวะเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดได้ เช่น ภาวะติดเชื้อ ภาวะไหล่ติด ภาวะแทรกซ้อนจากการดมยา เป็นต้น
ข้อเสีย
ขนาดของเส้นเอ็นที่ฉีกขาดอาจขยายขนาดใหญ่ขึ้น อาจมีการจำกัดการใช้งานในบางท่า กำลังของการใช้งานอาจลดลง
-
การรักษาแบบผ่าตัด
ผู้ป่วยที่เป็นมานานและไม่ดีขึ้นจากการรักษาแบบไม่ผ่าตัด แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัด โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ยังต้องใช้งานไหล่มาก หรือนักกีฬาที่ต้องใช้ไหล่ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยควรปรึกษากับแพทย์อย่างใกล้ชิดเพื่อกำหนดเวลาที่เหมาะสมในการผ่าตัด สำหรับผู้ป่วยที่มีเอ็นข้อไหล่ฉีกขาดเพียงบางส่วนอาจไม่จำเป็นต้องผ่าตัด ในกรณีนี้แพทย์จะแนะนำว่าร่างกายสามารถสมานตัวเองได้ แต่หากผู้ป่วยรู้สึกเจ็บจนทนไม่ไหวหรือไม่สามารถใช้แขนได้ อาจจำเป็นต้องพิจารณาผ่าตัด โดยมีจุดประสงค์ต่างๆ เช่น
-
การซ่อมแซมเส้นเอ็นอักเสบ (Arthroscopic tendon repair)
-
ผ่าตัดแบบเปิดเพื่อซ่อมแซมเส้นเอ็น (Open tendon repair)
-
การปลูกถ่ายเส้นเอ็น (Tendon transfer)
-
เปลี่ยนหัวไหล่ (Shoulder replacement)
ท้ายที่สุด อาการเจ็บหรือปวดที่หัวไหล่เป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลยเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากกลายเป็นอาการเรื้อรัง ก็จะยิ่งสร้างแต่ความลำบากให้ผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ยากแล้ว การรักษาและฟื้นตัวก็ยิ่งยากตามไปด้วย ดังนั้น หากเกิดอาการที่ผิดสังเกต เช่น ปวดจนเริ่มยกแขนไม่ได้ ใช้เวลานานกว่าอาการจะดีขึ้น ควรรีบไปหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจให้แน่ใจว่าเกิดอาการอะไรที่ร้ายแรงหรือไม่เพื่อที่จะรักษาให้ได้อย่างทันท่วงที ——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- ชนิดของกล้ามเนื้อ มีอะไรบ้าง? ส่วนไหนเกิดโรคได้ง่ายที่สุด
- “โรคหัวไหล่” : 3 โรคอันตรายที่ต้องคอยระวัง
- ท่าบริหารหัวไหล่ 9 ท่าง่ายๆ ลดอาการปวด