“กระดูกสันหลังยุบ” กับ วิธีรับมือก่อนสายเกินแก้
“กระดูกสันหลังยุบ” หนึ่งในภาวะที่ค่อนข้างอันตรายกับสุขภาพหลัง เนื่องจากเป็นภาวะที่จะมีแต่อาการหนักขึ้นและหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยส่วนใหญ่แล้วอาการนี้จะพบในผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 70-80 ปีขึ้นไป และจะพบบ่อยในผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุนร่วมด้วย ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณหลังตรงตำแหน่งที่มีการทรุดตัว อาการปวดมากขึ้นเมื่อมีการขยับ นั่ง ยืนและเดิน นั่นจึงหมายถึงไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมใดๆ หรือเป็นการเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อย ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตได้ไม่เต็มที่และยิ่งเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงควรรู้วิธีรับมือก่อนที่เราหรือคนใกล้ตัวจะต้องเจอกับภาวะนี้และปล่อยให้มันสายเกินไป
“กระดูกสันหลังยุบ” คืออะไร ทำไมจึงน่ากลัว?
ภาวะนี้เกิดจากความแข็งแรงของกระดูกที่ลดลง และมักพบในผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกพรุน (osteoporosis) การทรุดของกระดูกสันหลังอาจเกิดขึ้นหลังจากนั่งรถตกหลุม นั่งกระแทกลงบนเก้าอี้ หรือก้มยกของ ความรุนแรงมากขึ้นเมื่อล้มก้นกระแทกพื้น การทรุดตัวมักพบบริเวณกระดูกสันหลังส่วนอกต่อกับส่วนเอว (lower thoracic) และกระดูกสันหลังส่วนเอว (lumbar) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณหลังตรงตำแหน่งที่มีการทรุดตัว อาการปวดมากขึ้นเมื่อมีการขยับ นั่ง ยืนและเดิน หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษากระดูกที่ทรุดอาจกดทับไขสันหลังหรือเส้นประสาท ทำให้ผู้ป่วยมีอาการชา ขาอ่อนแรง หรืออาจทำให้ไม่สามารถควบคุมระบบขับถ่ายได้
สาเหตุของภาวะนี้เกิดจาก
1.พันธุกรรม
ในครอบครัวที่พ่อหรือแม่ เป็นภาวะกระดูกพรุนและกระดูกหัก ลูกจะมีโอกาสเป็นภาวะกระดูกพรุนและเสี่ยงกระดูกหักเพิ่มขึ้น
2.การใช้ชีวิตที่มีผลต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุน
- การใช้ยา ยาบางชนิดเมื่อใช้เป็นระยะเวลานานอาจส่งผลให้มวลกระดูกบางลง เช่น กลุ่มยาสเตียรอยด์ ,กลุ่มยาฮอร์โมนบางประเภท ,ยาป้องกันการชัก เป็นต้น
- การขาดสารอาหาร การขาดสารอาหารประเภทแคลเซียม และวิตามินดี มีผลทำให้กระดูกอาจหยุดการเจริญเติบโต และมีการสร้างมวลกระดูกที่ลดลง
- เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และ การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า เบียร์ หรือแม้แต่ไวน์ในปริมาณมากกว่า 3 แก้ว/วัน มีโอกาสเป็นภาวะกระดูกพรุนเร็วขึ้น และ สารนิโคตินที่อยู่ในบุหรี่เป็นตัวทำลายเซลล์สร้างมวลกระดูกทำให้กระดูกบางลง หากสูบบุหรี่มากกว่า 20 ม้วนต่อวัน เสี่ยงทำให้กระดูกหักสูงขึ้น 1.5 เท่าของคนไม่สูบบุหรี่
3.อายุ
ด้วยวัยที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เซลล์ที่สร้างกระดูกมีจำนวนลดลง ทำให้อัตราการสูญเสียมวลกระดูกเพิ่มมากขึ้น
ภาวะกระดูกสันหลังยุบมีอาการอย่างไร?
ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดบริเวณกลางหลังตรงตำแหน่งที่มีการหักยุบ โดยอาการปวดจะเป็นมากขึ้นเวลาขยับ เช่น พลิกตะแคงตัวในท่านอน ลุกจากนอนมานั่ง ลุกจากนั่งมายืน บิดตัว ก้มและเงย เป็นต้น เนื่องจากมีการขยับและเสียดสีกันของกระดูกที่ยุบ นอกจากนี้ผู้ป่วยจะมีอาการปวดมากขึ้นเวลาที่กระดูกสันหลังรับน้ำหนัก เช่น ในท่านั่ง ยืน หรือเดินอาการปวดหลังอาจมีเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ หรือปวดมากจนผู้ป่วยไม่สามารถลุกนั่ง ยืน หรือเดินได้ ต้องนอนอยู่ตลอดเวลา หากมีการเคลื่อนของกระดูกสันหลังอาจไปกดทับไขสันหลังหรือเส้นประสาท จะทำให้มีอาการชา อ่อนแรงของขา หรือทำให้ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะได้
ภาวะการยุบตัวส่งกระทบต่อกระดูกสันหลังอย่างไร?
1.แนวกระดูกสันหลังผิดรูป เช่น หลังค่อม หรือกระดูกสันหลังคด ทำให้ร่างกายเสียสมดุล 2.กระดูกสันหลังหัก หรือยุบตัว บางรายอาจเกิดการกดทับต่อเส้นประสาทไขสันหลังร่วมด้วย
วิธีการรักษา
1.รักษาโดยใช้ยา
โดยในปัจจุบันการใช้ยาในการรักษาภาวะกระดูกพรุน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ตามการออกฤทธิ์ ต่อสมดุลย์ของกระดูก คือ กลุ่มที่ช่วยการยับยั้งการสลายของกระดูก กลุ่มที่กระตุ้นในการสร้างกระดูก และกลุ่มที่ออกฤทธิ์ทั้งยับยั้งการสะลายและกระตุ้นการสร้างกระดูก
2.รักษาโดยการผ่าตัด
ถ้าหากกระดูกสันหลังเกิดการแตก หัก ทรุด หรือยุบตัว จากภาวะกระดูกพรุน ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวด และแนวกระดูกสันหลังไม่ค่อมจนผิดรูป การฉีดซีเมนต์ก็จะเป็นผ่าตัดที่มีความเสี่ยงน้อยให้ผลการรักษาที่ดี และสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติได้เร็วขึ้น
วิธีรับมือเพื่อลดความเสี่ยงการเกิด “กระดูกสันหลังยุบ”
1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
โดยเฉพาะอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีที่เพียงพอ ซึ่งเป็นสารอาหารหลักที่สำคัญต่อการสร้างกระดูก ร่วมกับรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะโปรตีนในปริมาณที่เหมาะสมทั้งจากพืชและสัตว์เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อป้องกันการหกล้ม
2.เดินรับลมยามเช้า
เนื่องจากแสงแดดจะช่วยให้ร่างกายสังเคราะห์วิตามิน D ได้จากธรรมชาติ วิตามิน D จะช่วยให้แคลเซียมจากอาหารที่เรากินเข้าไปหรือจากอาหารเสริมที่เรากินเข้าไปดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ดีขึ้น โดยอาจเดินวันละ 10-15 นาทีตามแต่สะดวก
3.ออกกำลังกายให้เหมาะสม
การออกกำลังกายที่จะช่วยเพิ่มมวลกระดูกได้ ก็ต้องเป็นการออกกำลังกายที่มีน้ำหนักลงบริเวณข้อต่อต่าง ๆ เช่น การเดินเร็ว ๆ การวิ่งเหยาะ ๆ หรือการเต้นแอโรบิกสำหรับผู้สูงอายุจะช่วยเพิ่มมวลกระดูกได้ ทำให้มวลกระดูกแข็งแรงขึ้น อีกทั้งยังสร้างให้มวลกล้ามเนื้อแข็งแรงตามไปด้วย อย่างไรก็ดี ภาวะนี้เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้อาจจะพบในผู้สูงวัยหรือผู้ที่มีปัญหากระดูกพรุนเสียส่วนใหญ่ แต่ทุกคนก็พึงระวังไว้ เนื่องจากปัจจัยที่ทำให้เกิดกระดูกสันหลังยุบนั้นไม่ได้มีแค่อายุและปัญหาสุขภาพเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยจากการใช้ชีวิตของแต่ละคนรวมถึงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกๆ คนตลอดเวลา ดังนั้น ระมัดระวัง ป้องกัน และไม่เพิ่มความเสี่ยง จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการรักษาสุขภาพหลังของเรานั่นเอง
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- นั่งนาน ปวดหลัง แก้ได้ไม่ยาก
- ปวดกล้ามเนื้อหลัง (Myofascial Pain Syndrome)
- ปวดหัว มึนหัว ปวดกระบอกตา คล้ายไมเกรน