“ไมเกรนเทียม” อาการที่หลายคนหลงกลจนรักษาผิดวิธี โรคนี้คืออะไร?!
“ไมเกรนเทียม” เชื่อว่าหลาย ๆ คนอาจไม่เคยรู้จักกับภาวะนี้มาก่อน หรือมักเข้าใจผิดเมื่อเกิดอาการปวดบริเวณศีรษะว่าเป็นอาการไมเกรน ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะอาการปวดศีรษะนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งมีทั้งสาเหตุที่มาจากศีรษะโดยตรงและสาเหตุที่มาจากการบาดเจ็บจากจุดอื่น ๆ แต่ส่งผลมายังบริเวณศีรษะก็ได้เช่นกัน ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการที่เราจะต้องทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวดหัวของเราก่อน เพื่อที่จะได้สามารถแยกออกว่าอาการไหนคือไมเกรนแท้หรือเทียม และจะได้เข้าสู่การรักษาที่ถูกต้องต่อไป
“ไมเกรนเทียม” คืออะไร ต่างจากไมเกรนแท้อย่างไร รักษาด้วยวิธีไหนได้บ้าง?
ลักษณะอาการของไมเกรนจะเป็นการปวดศีรษะ ส่วนมากจะปวดตุบๆ ข้างเดียวเหมือนมีหลอดเลือดมาเต้นอยู่ข้างขมับ แต่ในบางรายก็ปวดทั้งสองข้างในคราวเดียวได้เช่นกัน วิธีแก้ปัญหาของหลายๆ คนคือการไปซื้อยากินเอง ซึ่งตามหลักแล้วยาที่ปลอดภัยและเหมาะสมที่สุดคือ “พาราเซตามอล” ซึ่งผลลัพธ์ก็แล้วแต่บุคคล บางคนอาการดีขึ้น แต่บางคนก็ไม่ดีขึ้นเลย ซึ่งที่เป็นแบบนั้นอาจเป็นเพราะว่ามีอีกหนึ่งภาวะซ่อนอยู่ นั่นคือ “ไมเกรนแบบเทียม” นั่นเอง
ทำความรู้จัก “ไมเกรนแบบเทียม” อาการที่หลายคนหลงกลจนทำให้เข้าใจผิด
โดยทั่วไปแล้ว อาการไมเกรน นั้น เป็นอาการปวดหัวที่พบบ่อยเป็นอันดับต้น ๆ ในคนวัยทำงาน ซึ่งสาเหตุของโรคไมเกรนนั้นยังไม่แน่ชัด แต่มักจะถูกพูดถึงว่าเกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาทบางชนิด และเกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่าง ๆ ที่เพิ่มภาวะเครียด (Stress) ให้กับร่างกาย
แต่ในขณะเดียวกัน ไมเกรนแบบเทียม นั้น เกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณคอและบ่าตึงจนเป็นก้อนที่เรียกว่า Taut band โดยก้อนนี้จะเป็นจุดกระตุ้น (Trigger point) ที่ทำให้รู้สึกปวดร้าวไปที่ศีรษะข้างเดียวกัน จนทำให้เกิดอาการปวดหัวคล้ายกับไมเกรนได้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยในกลุ่มพนักงานออฟฟิศ หรือคนที่มีภาวะออฟฟิศซินโดรม
ความแตกต่างของโรคไมเกรนแท้และเทียม
เราสามารถแยกความแตกต่างของไมเกรนทั้ง 2 แบบได้ ดังนี้…
- ไมเกรนแบบแท้ ยังไม่มีสาเหตุแน่ชัด
- ไมเกรนแบบเทียม สาเหตุเกิดจากกลุ่มกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ข้างใดข้างหนึ่งหรือ 2 ข้างมีความตึงตัวจนเกิดเป็น Trigger Point หรือปมกล้ามเนื้อกดเจ็บ
ซึ่งจากที่ทุกคนเห็น ไมเกรนทั้ง 2 แบบจะมีจุดที่แตกต่างกันมาก ๆ ในส่วนของสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ ดังนั้น เมื่อเราสามารถแยกได้แล้ว เราก็จะสามารถเลือกแนวทางการรักษาที่ถูกต้องและช่วยบรรเทาอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อาการไมเกรนแบบเทียม เป็นอย่างไร?
สำหรับภาวะไมเกรนแบบเทียมนั้น จะแสดงลักษณะอาการต่าง ๆ ดังนี้…
- ปวดหัวข้างเดียวหรือ 2 ข้าง ขึ้นอยู่กับความตึงตัวของกล้ามเนื้อคอ บ่า อยู่ที่ข้างใด
- ปวดหัวแบบบีบรัดหรือแบบตุบๆ ก็ได้
- อาจมีอาการปวดคอ บ่า ร้าวขึ้นศีรษะร่วมกัน
- หากมีความตึงของกล้ามเนื้อเพียงด้านเดียว จะไม่พบการปวดสลับข้างไปมาในแต่ละรอบการปวด
- มีกล้ามเนื้อที่คอ บ่า สะบัก ตึงและมีจุดกดเจ็บชัดเจน โดยเฉพาะที่ด้านข้างท้ายทอย ต้นคอ หรือบ่า
- หากมีอาการ เมื่อกดนวดที่จุดกดเจ็บนั้นจะทำให้อาการปวดหัวรุนแรงมากขึ้น
ซึ่งส่วนใหญ่จะส่งผลจากการปวดกล้ามเนื้อเป็นส่วนใหญ่และมีผลข้างเคียงมายังบริเวณศีรษะ ซึ่งต้องได้รับการรักษาที่ถูกวิธีและถูกจุดจึงจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้
แนวทางการรักษา
สำหรับแนวทางการรักษาไมเกรนเทียมก็ไม่ยากเลย เพียงแค่หมั่นยืดกล้ามเนื้อ ทำกายภาพบำบัด นวด หรือมาพบแพทย์เวชศาสตร์ หรือตามวิธีต่าง ๆ เช่น
- การปรับพฤติกรรมเพื่อลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ เช่น การยืดกล้ามเนื้อ การออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อแข็งแรง และการปรับการยศาสตร์ (Ergonomics) ตามหลักการรักษาออฟฟิศซินโดรม
- การทำกายภาพบำบัดคลายความตึงตัวของกล้ามเนื้อคอ บ่า
- การกินยาระงับปวด คลายกล้ามเนื้อ
โดยทั้ง 3 แนวทางนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
การรักษา “ไมเกรนแบบเทียม” ด้วยการทำกายภาพบำบัด
สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แนวทางด้วยกัน ประกอบด้วย…
1. รักษาด้วยเวชศาสตร์ฟื้นฟู
เป็นการรักษาด้วยการใช้เครื่องมือทางกายภาพ เช่น Ultrasound เครื่องดึงคอ หรือการรักษาด้วยการฝังเข็มแบบตะวันตก และการสอนท่าบริหาร เพื่อการป้องกันและรักษา ในเคสที่เป็นมานานเรื้อรังยังมีการสอนหายใจ เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อร่วมด้วย
2. รักษาด้วย Shock Wave
คลื่นกระแทก (Shock Wave) เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงในการใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดระยะเรื้อรังที่ผ่านการรักษาต่าง ๆ มาแล้วไม่ดีขึ้น เหมาะกับผู้ที่มีอาการออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) อาการปวดข้อศอก เอ็นข้อศอกอักเสบ พังผืดฝ่าเท้าอักเสบ ปวดไหล่ ปวดหลัง ปวดสะโพกร้าวลงขา ปวดฝ่าเท้าเรื้อรัง โรครองช้ำ ปวดเอ็นร้อยหวาย ปวดเข่า บาดเจ็บจากกีฬา เป็นต้น
ท้ายที่สุด จะเห็นได้ว่าไมเกรนทั้ง 2 แบบนั้นมีความคล้ายกันอย่างมาก ในบางครั้งเราสามารถพบทั้ง 2 ภาวะนี้ได้ในคนคนเดียวกันโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากปัจจัยกระตุ้นบางส่วนมีความคล้ายคลึงกัน ดังนั้นหากใครที่เข้ารับการรักษาโรคไมเกรนหรือรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อร้าวขึ้นศีรษะเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือดีขึ้นแต่ยังไม่หาย แนะนำให้ลองปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นแพทย์อายุรกรรมระบบประสาทและแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อให้ได้รับการดูแลที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- นั่งนาน ปวดหลัง แก้ได้ไม่ยาก
- ปวดกล้ามเนื้อหลัง (Myofascial Pain Syndrome)
- ปวดหัว มึนหัว ปวดกระบอกตา คล้ายไมเกรน