เก้าอี้ Ergonomic ดีจริงไหม ช่วยลดอาการออฟฟิศซินโดรมได้จริงหรือเปล่า
เก้าอี้ Ergonomic หนึ่งในเก้าอี้ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบันโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่ทำงานออฟฟิศหรือผู้ที่ต้องนั่งทำงานนาน ๆ จนมีภาวะปวดคอ บ่า ไหล่ หรือ “ออฟฟิศซินโดรม” ที่พวกเรารู้จักกันนั่นเอง อย่างไรก็ตาม เจ้าเก้าอี้ตัวนี้ แม้จะมีความโดดเด่นในเรื่องของการช่วยปรับสรีระและท่าทางการนั่งให้ดีขึ้น แต่ก็ยังมีข้อควรรู้ที่ผู้นั่งต้องทำความเข้าใจและทำความรู้จักกับเจ้า Ergonomic มากอยู่ทีเดียว ในบทความนี้ Newton Em Clinic จึงรวบรวมข้อมูลเพื่อให้ผู้อ่านได้ศึกษาไปพร้อม ๆ กัน
เก้าอี้ Ergonomic คืออะไร ทำไมจึงเหมาะกับคนทำงานออฟฟิศ
อาการปวดหลังจากการนั่งทำงานผิดท่าเป็นเวลานาน หลายคนอาจมองว่าเป็นปัญหาที่ไม่น่าห่วงเท่าไหร่ ไปให้หมอนวดนวดคลายเส้นก็ดีขึ้นแล้ว แต่หารู้ไม่ว่าถ้าปล่อยไว้นานอาจมีอันตรายมากกว่าที่คุณคิด เพราะพฤติกรรมนั่งผิดท่าเป็นเวลานาน ๆ ส่งผลโดยตรงกับกระดูกสันหลัง ทำให้กระดูกของคุณเสื่อมสภาพมากขึ้นทุกวัน ๆ การนวดคลายเส้นก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุที่แก้ได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น ถ้ายังไม่เปลี่ยนท่านั่ง จัดสรีระให้ถูกต้อง อาการก็จะมีแต่หนักขึ้นและอาจกลายเป็นอาการเรื้อรังได้ในที่สุด ดังนั้น ผู้ที่มีอาการออฟฟิศซินโดรมจึงมักเลือกเก้าอี้ชนิดนี้ไว้นั่งเพื่อบรรเทาอาการออฟฟิศซินโดรมนั่นเอง
Ergonomic chair คือ…
Ergonomic Chair หรือ เก้าอี้ “การยศาสตร์” หมายถึงเก้าอี้ที่ถูกออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์ของมนุษย์ มีการออกแบบที่เอื้ออำนวยและคำนึงถึงการรักษาสภาพของท่านั่งให้เหมาะสมกับลักษณะของร่างกายที่แตกต่างกัน เพื่อลดปัญหาการเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อจากการนั่งเป็นระยะเวลานาน ๆ เก้าอี้การยศาสตร์ถูกออกแบบมาใช้กับผู้ที่ต้องทำงานโดยการนั่งนาน ๆ ซึ่งก็คือคนทำงานในสำนักงานจึงมักเรียกว่า “Ergonomic Office Chair & Ergonomic Work Chair”
Ergonomics แตกต่างจากเก้าอี้ธรรมดาอย่างไร?
Ergonomics หรือเก้าอี้สุขภาพถูกออกแบบมาให้ผู้ใช้งานนั่งในท่าที่ถูกหลักการยศาสตร์มากที่สุด การออกแบบช่วยรับน้ำหนัก โอบรับหลังและช่วงล่างได้เป็นอย่างดี สามารถปรับแต่งได้หลายส่วนเช่น ความสูง ที่ซัพหลัง วัสดุที่ใช้ก็ดีต่อสุขภาพ ให้สัมผัสที่ดี ไม่ร้อน
5 จุดเด่นของ Ergonomic Chair ที่ทำให้มันเป็นเก้าอี้เพื่อสุขภาพ
โดยทั่วไปแล้ว Ergonomic มักถูกออกแบบมาให้สามารถปรับส่วนต่าง ๆ ได้ตามความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งการปรับเปลี่ยนนั้นก็เพื่อให้ทุกส่วนของเก้าอี้พอเหมาะพอดีกับสรีระของแต่ละคนมากที่สุด สำหรับจัดท่านั่งที่เหมาะสมให้แก่ผู้ใช้แต่ละคนได้อย่างตรงจุด ซึ่งส่วนที่ปรับเพื่อซัพพอร์ตสรีระ มี 5 จุด ดังนี้
1.พนักพิงรองคอ
สามารถปรับระดับและเปลี่ยนองศาให้พอดีกับต้นคอของผู้ใช้งาน ช่วยปรับให้ศรีษะตั้งตรง และทำให้สายตาขนานกับพื้น
2.พนักพิง
ช่วยพยุงไหล่ รองรับแผ่นหลัง เอว และกระดูกสันหลังส่วนล่าง ซึ่งจะออกแบบมาให้ไม่มีช่องว่างระหว่างแผ่นหลังกับเก้าอี้ ช่วยให้ผู้ใช้งานนั่งหลังชิดแนบสนิทกับพนักพิง และนั่งตัวตรงได้ ทำให้หลังไม่แอ่นและไม่ค่อม
3.ที่พักแขนสำหรับรองรับศอกและแขนท่อนล่าง
เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถวางข้อศอกและแขนให้อยู่ในระนาบเดียวกันในแนวเส้นตรง ตามหลักท่านั่งที่ถูกต้อง
4.เบาะรองนั่ง
นอกจากเบาะรองนั่งจะมีความนุ่มและหนาแล้ว ยังถูกออกแบบมาให้สามารถกระจายน้ำหนักได้ดี เวลานั่งน้ำหนักจึงไม่กดลงที่จุดใดจุดหนึ่ง ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถลงน้ำหนักที่กล้ามเนื้อต้นขาหรือก้นทั้งสองข้างได้เท่า ๆ กัน ทั้งนี้ Ergonomic chair ยังสามารถปรับเลื่อนเบาะรองนั่งเข้า-ออก ได้ เพื่อให้พอดีกับความยาวของช่วงขาแต่ละคนได้อีกด้วย
5.ปรับระดับความสูง
Ergonomic สามารถปรับระดับความสูง-ต่ำได้ ช่วยให้ เท้าของผู้ใช้งานแต่ละคนวางราบระนาบไปกับพื้นได้แบบเต็มฝ่าเท้า
แนวทางการนั่ง Ergonomic chair ให้ได้ผลและบรรเทาอาการปวดจากออฟฟิศซินโดรมได้อย่างแท้จริง
จากที่ได้กล่าวไปว่าเจ้าเก้าอี้ตัวนี้สามารถช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมการนั่งผิดท่า เช่น นั่งหลังค่อม นั่งไม่เต็มก้น ท่านั่งที่ไม่กระจายน้ำหนัก ทำให้น้ำหนักลงที่ส่วนใดส่วนหนึ่งนานเกินไป จนทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ โรคออฟฟิศซินโดรม และปัญหากระดูกสันหลังเสื่อมสภาพในระยะยาว เก้าอี้ Ergonomic จะช่วยจัดสรีระตอนที่นั่งทำงานให้ถูกต้อง ลดอาการบาดเจ็บ และทำให้สุขภาพหลังของคุณดีขึ้นแม้จะต้องนั่งทำงานต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ๆ ทำให้คุณรู้สึกสบายเวลานั่งทำงาน และยังสามารถนั่งทำงานได้นานขึ้นด้วย
ซึ่งท่านั่งที่ดี ถูกต้องตามหลัก การยศาสตร์ หรือ Ergonomics คือ….
- ศีรษะ : ตั้งตรงหรือก้มเล็กน้อย ทำมุม 10 – 15 องศา สายตาขนานกับพื้น
- คอ : ไม่เอียงหรือโน้มไปด้านใดด้านหนึ่ง
- หลัง : ชิดติดกับพนักพิง เอนไปทางด้านหลังเล็กน้อย ตัวตรง ไม่แอ่นหรือก้ม
- ก้น : แนบกับบริเวณมุมฉากของพนักพิง และลงน้ำหนักที่กล้ามเนื้อก้นซ้ายและขวาเท่ากัน
- ข้อศอก : วางแนบชิดลำตัว หรือวางที่พักแขน ทำมุม 90 องศา ข้อมือและศอกอยู่ในแนวเส้นตรง
- ต้นขา : วางราบกับที่นั่ง และแนบชิดกับเบาะรองนั่ง
- เข่า : ข้อพับแนบชิดเบาะรองนั่ง ทำมุม 90 องศา
- เท้า : วางราบกับพื้นแบบเต็มฝ่าเท้า
อย่างไรก็ตาม ในสภาวะการทำงานในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นคนที่ทำงานที่ออฟฟิศ หรือบางคนที่ยัง Work from home อยู่ก็ตาม ย่อมมีความเครียดจากการทำงานและความกดดันสูง แล้วยิ่งต้องนั่งทำงานเป็นเวลาหลายชั่วโมงด้วยแล้ว ร่างกายของเพื่อน ๆ คงรับไม่ไหว อาการปวดล้ากล้ามเนื้อย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งคงเป็นฝันร้ายของใครหลาย ๆ คนอย่างแน่นอน ตรงจุดนี้ Ergonomic chair จะมาช่วยบรรเทาความเมื่อยล้าไปจากทุกคน ด้วยการนั่งที่สบาย ลดอาการเมื่อยล้า ผลที่ตามมาคือประสิทธิภาพในการทำงานของทุกคนย่อมดีตามไปด้วย
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วิดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวิดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- นั่งนาน ปวดหลัง แก้ได้ไม่ยาก
- ปวดกล้ามเนื้อหลัง (Myofascial Pain Syndrome)
- ปวดหัว มึนหัว ปวดกระบอกตา คล้ายไมเกรน