กายภาพบําบัดฝึกเดิน วิธีฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก
กายภาพบําบัดฝึกเดิน เป็นขั้นตอนการฟื้นฟูที่สำคัญสำหรับผู้ป่วย เนื่องจากเป้าหมายสูงสุดสำหรับผู้ป่วยในกลุ่มนี้คือการกลับมาเคลื่อนไหวและใช้ชีวิตได้ตามปกติที่สุด นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม การฝึกเดิน จึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญและควรมีนักกายภาพบำบัดเฉพาะทางคอยดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะการฝึกเดินของผู้ป่วยจะมีลำดับขั้นตอนที่ชัดเจน และจำเป็นต้องดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญในช่วงต้น เพราะหากเกิดข้อผิดพลาด ก็อาจทำให้ผู้ป่วยสับสนในการฝึกได้
กายภาพบําบัดฝึกเดิน สำหรับผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก สามารถทำด้วยวิธีใดได้บ้าง?
กายภาพบำบัดในผู้ป่วยระบบประสาท ให้บริการโดยการตรวจร่างกาย วิเคราะห์ปัญหา และให้การรักษาทางกายภาพบำบัดในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทาง ระบบประสาท ได้แก่ ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งท่อน ผู้ป่วยบาดเจ็บต่อศีรษะ ผู้ป่วยพาร์กินสัน ผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยไขสันหลังบาดเจ็บ ผู้ป่วยอัมพาตทั้งตัว เป้าหมายของการรักษาทางกายภาพบำบัด คือเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ฝึกควบคุมการเคลื่อนไหว ฝึกการทรงตัวขณะนั่ง ยืน และฝึกเดินด้วยเทคนิคเฉพาะ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเอง และสามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวันได้ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด
อัมพาตครึ่งซีก คือ…
คือ ภาวะที่ร่างกายมีการสูญเสียการทำงานของแขนและขาในด้านเดียวกันของลำตัว สาเหตุมีหลายอย่างแต่ที่พบบ่อยที่สุดคือ สาเหตุจากโรคหลอดเลือดสมองซึ่งจำแนกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 2 ประเภท คือ
1. หลอดเลือดสมองตีบ หรืออุดตัน
2. หลอดเลือดสมองแตก
ทั้ง 2 ภาวะดังกล่าวทำให้เนื้อเยื่อสมองในบริเวณที่หลอดเลือดนั้นหล่อเลี้ยงเกิดอาการขาดเลือดทำให้การทำงานของสมองส่วนนั้น ๆ ซึ่งควบคุมการทำงานของร่างกายทำหน้าที่บกพร่องไป ดังที่ทราบกันแล้วว่าสมองมี 2 ซีก ซ้ายและขวาโดยปกติสมองซีกหนึ่งๆ จะควบคุมการทำงานของร่างกายด้านตรงข้ามเสมอ เช่น เมื่อสมองซีกขวามีปัญหาจึงส่งผลให้การทำงานของร่างกายซีกซ้ายเกิดการอ่อนแรง เป็นต้น
ความสามารถของผู้ป่วยในการฟื้นฟูการเดิน
คนไข้ที่เป็น อัมพฤกษ์/อัมพาต หรือ โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) จะมีอาการอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด อาการผิดปกติทั้งหมดเกิดจาก สภาวะสมองหยุดทำงาน สมองที่หยุดทำงาน แบ่งได้เป็น 2 ส่วน
1. สมองส่วนที่ขาดเลือด แต่ยังไม่ตาย
ใช้เวลา 3-6 เดือน สมองส่วนนี้จะสามารถกลับมาทำงานได้ปกติ หรือที่เรียกว่า “ช่วงทองของการฟื้นตัว” (Golden period)
2. สมองส่วนที่ตายแล้ว
ใช้เวลานานขนาดไหนก็ไม่สามารถกลับมาทำงานได้อีก จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับ หากมีสมองตายเกิดขึ้น อาจจะไม่สามารถหายเป็นปกติ 100%
กรณีที่สมองตายไม่มาก แม้ไม่ได้ ทำกายภาพบำบัด ภายใน 3-6 เดือน ถ้ามีคนพยายามพายืนเดินก็สามารถกลับมาเดินได้ “ในรูปแบบที่ผิดปกติ”
การเดินรูปแบบที่ผิดปกติเป็นเวลานาน จะทำให้สมองจดจำการเดินผิดปกตินั้น ยิ่งนานยิ่งแก้ไขยาก (หรืออาจไม่สามารถแก้ไขได้) ดังนั้นกายภาพบำบัดที่ถูกต้อง จึงเป็นสิ่งจำเป็นตั้งแต่ช่วงแรก ที่จะช่วยให้คนไข้กลับมาเดินคล้ายปกติมากที่สุด เพราะการรักษากายภาพบำบัด สามารถช่วยกระตุ้นสมองส่วนที่ยังไม่ตาย ให้กลับมาทำงานได้เร็วยิ่งขึ้น และจะส่งเสริมสมองส่วนที่ปกติ ให้ทำงานทดแทนส่วนที่ตายไป ด้วยการ “ออกกำลังกายอย่างถูกวิธี” ซึ่งกระบวนการนี้ใช้เวลาในการฝึกพอสมควร เพื่อให้สมองเรียนรู้ และเกิดการจดจำ การทำกายภาพกับนักกายภาพบำบัดเฉพาะทาง จึงสำคัญเป็นอย่างมาก
ดังนั้น คนไข้อัมพฤกษ์/อัมพาต หรือ คนไข้หลอดเลือดสมอง ไม่ว่าเวลาจะผ่านไป 6 เดือน 1 ปี หรือ 3 ปี ตราบใดที่คนไข้ตั้งใจ พยายามออกกำลังกาย ก็ยังสามารถเดินหรือทำกิจกรรมดีขึ้นได้นั่นเอง ทั้งนี้การฟื้นฟูและทำกายภาพที่บ้าน ถือเป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่จะเป็นกำลังใจให้คนไข้รู้สึกได้ทำกิจกรรมในพื้นที่ของตนเองและในสถานที่ที่คุ้นเคย
ควรเริ่มการ ฝึกเดิน ยังไง
ฝึกเดิน ทำไมต้องฝึกเดินกันด้วย? หลายคนคงเคยชินกับการเดิน แต่ว่าหลาย ๆ คนยังไม่รู้ว่าการฝึกเดินมีหลายขั้นตอนและต้องเริ่มการฝึกเดินยังไง โดยวันนี้เราจะมาสอนในแต่ละขั้นตอน ถ้าอยากรู้ตามมาดูกันเลย
การเดิน แบ่งได้ 2 ช่วง โดยเราจะเน้นไปที่ช่วง stance phase ก่อน
ช่วง stance phase
คือ ช่วงที่ขาเหยียบยืนลงน้ำหนัก จะช่วยให้เราเดินได้อย่างมั่นคง สามารถฝึกเดินช่วงนี้ได้โดยยืนตรง ๆ จากนั้นถ่ายน้ำหนักไปขาข้างที่อ่อนแรง เป็นการกระตุ้นกล้ามเนื้อที่ช่วยเหยียบยืน การฝึกท่านี้เสี่ยงต่อการล้มต้องคอยระวังโดยการค่อย ๆ ถ่ายน้ำหนักเพิ่มขึ้นทีละนิด ถ้าถ่ายหนักทีเดียวอาจล้มได้ ท่านี้ควรจัดให้ เข่า สะโพก และหลังอยู่ในแนวตรงให้มากที่สุด ถ้าฝึกแล้วเก่งมากขึ้นสามารถยกขาข้างมีแรงขึ้นบันได 1 ขั้น ทำช้า ๆ การฝึกเดินขั้นต่อไป คือ ก้าวขาข้างอ่อนแรงไปข้างหน้าจากนั้นถ่ายน้ำหนักไปขาข้างอ่อนแรง ควรก้าวขาข้างอ่อนแรงไปด้านหน้าสั้น ๆ ก่อน จากนั้นจึงค่อย ๆ ก้าวยาวขึ้นเพื่อป้องกันการล้ม และควรมีคนคอยช่วยประคอง
ช่วง swing phase
คือ ช่วงที่ยกขาก้าว ห้ามฝึกก้าวขาก่อนอาจจะทำให้เกิดการเดินในท่าทางที่ผิดเพี้ยน
ท้ายที่สุด เป้าหมายที่สำคัญสุดของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองคือ สามารถยืนเดินได้ด้วยตนเอง การยืนเดินได้จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการนอนนาน ๆ ส่งผลดีต่อสภาพจิตใจของผู้ป่วยและญาติ ซึ่งระยะเวลาในการฟื้นฟูขึ้นอยู่กับความรุนแรงและตำแหน่งของสมองที่ได้รับความเสียหาย ดังนั้น นอกจากความพร้อมของผู้ป่วยแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญก็คือกำลังใจและความพร้อมของสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัว หากต้องการให้เกิดผลสำเร็จ ต้องไม่ลืมที่จะให้กำลังใจผู้ป่วยด้วย
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วิดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวิดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- นั่งนาน ปวดหลัง แก้ได้ไม่ยาก
- ปวดกล้ามเนื้อหลัง (Myofascial Pain Syndrome)
- กายภาพบำบัดสันหลังคด ฟื้นฟูกระดูกได้โดยไม่ต้องผ่าตัด