ชาที่หัวเวลานอน นอนไม่ได้ นอนไม่หลับ แก้ยังไงดี?
ชาที่หัวเวลานอน มีอาการเย็น ๆ อยู่ตามบริเวณต่าง ๆ ของศีรษะ เป็นอาการที่หลาย ๆ คนอาจไม่เคยเป็นหรือรู้จักมาก่อน ซึ่งอาจสร้างความกังวลอยู่ไม่น้อยว่าจะส่งผลข้างเคียงที่ร้ายแรงต่อร่างกายหรือไม่ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าทุก ๆ คนล้วนเคยต้องประสบปัญหาการปวดศีรษะมาก่อนซึ่งสาเหตุและภาวะอาการก็มีความแตกต่างกันไป แต่หลัก ๆ อาจมาจากปัญหาของระบบประสาท อย่างไรก็ดี ภาวะอาการชาในขณะที่กำลังนอนอยู่นั้น ก็เป็นอีกหนึ่งการแสดงออกของภาวะปวดหัวเช่นกัน ซึ่งต้นตอและการดูแลตนเองอย่างถูกวิธีคืออะไรนั้น ในบทความนี้มีคำตอบ
ชาที่หัวเวลานอน เกิดจากอะไร รักษาด้วยวิธีใดได้บ้าง?
เชื่อว่าหลาย ๆ คนอาจไม่รู้ว่าอาการชาศีรษะนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น อาจจะมาจากการปวดแบบไมเกรน หรือ ยิ่งไปกว่านั้นคืออาการข้างเคียงที่มาจากอาการปวด คอ บ่า ไหล่ จากภาวะออฟฟิศซินโดรม เป็นต้น นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมอาการชาเช่นนี้จึงหาสาเหตุที่แน่ชัดได้ค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตาม จากที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า แม้อาการชาเช่นนี้จะไม่ได้ส่งผลอันตรายต่อสมองในทันที แต่หากปล่อยนานไปก็อาจจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นผู้อ่านจึงควรศึกษาสาเหตุ อาการ วิธีการรักษา และการดูแลตนเอง เพื่อให้เป็นข้อมูลเบื้องต้นจะดีที่สุด
การชาที่ศีรษะในขณะนอน เกิดจาก…
สำหรับอาการชาเช่นนี้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น กล้ามเนื้อรอบ ๆ ศีรษะมีการเกร็งตัวซึ่งเป็นผลมาจากความเครียด คร่ำเคร่งกับงาน ความหิว อดนอน อ่อนเพลีย ใช้สมองหรือสายตาเป็นเวลานาน ๆ นอกจากนี้ ยังอาจพบร่วมกับโรคไมเกรน โรควิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ความผิดปกติทางอารมณ์หรือการปรับตัว รวมถึงการปวดตึงจาก คอ บ่า ไหล่ ซึ่งเป็นอาการเรื้อรัง ซึ่งก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้หนังศีรษะมีอาการปวดแบบบีบรัดจนนำไปสู่อาการชาที่ศีรษะได้นั่นเอง
ลักษณะอาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตื้อ ๆ หนัก ๆ ที่ขมับ หน้าผาก กลางศีรษะหรือท้ายทอยทั้ง 2 ข้าง หรือทั่วศีรษะหรือปวดรอบศีรษะคล้ายถูกเข็มขัดรัด และมีอาการชาบริเวณท้ายทอย โดยในกรณีที่ไม่รุนแรงอาการดังกล่าวอาจเกิดจากความเครียดทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเลือดหดเกร็งตัวทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงบริเวณศีรษะได้ไม่ดีจึงทำให้เกิดอาการปวด-ชาได้นั่นเอง อย่างไรก็ตาม อาการนี้จะอยู่กับผู้ป่วยนานหรือไม่นั้นก็จะขึ้นอยู่กับปัจจัยทางร่างกายของแต่ละคนด้วย บางคนอาจมีอาการไม่กี่นาที บางคนมีอาการนานเป็นวัน หรือบางคนก็เป็น ๆ หาย ๆ ดังนั้นจึงควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยให้ทราบอาการอย่างแน่ชัด
วิธีการบรรเทาเบื้องต้น
การบรรเทาอาการชาที่ศีรษะเบื้องต้นนั้น สามารถเริ่มต้นด้วยการนวดกดจุดตามบริเวณต่าง ๆ เช่น
- ใช้มือซ้ายนวดบริเวณท้ายทอย ลำคอ ไหล่ข้างขวา
- มือขวานวดทางด้านซ้าย โดยวิธีแรกคือใช้นิ้วกลางกับนิ้วโป้ง กดตั้งแต่ท้ายทอย 2 ด้าน จุดที่สองกดข้างลำคอสองด้าน จุดที่สามบริเวณคอกับไหล่สองด้าน
- ใช้นิ้ว 4 นิ้ว ชี้กลางนางก้อยของมือขวากดบริเวณไหล่หรือบ่าทางด้านซ้าย และสลับมือทำอีกข้างจะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อลงได้
ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจแช่น้ำอุ่น ๆ ก็ช่วยได้ ทำบ่อย ๆ หากอาการไม่ดีขึ้นก็ต้องไปตรวจเผื่ออาจเกิดจากสาเหตุร้ายแรงภายในสมองได้
การรักษาทางกายภาพบำบัด
เนื่องจากสาเหตุหลัก ๆ ของอาการชาศีรษะเช่นนี้มักมาจากการปวดตึงหนังที่กล้ามเนื้อศีรษะ ซึ่งทางการรักษาทางกายภาพนั้นสามารถทำได้ด้วยเทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า TMS หรือ การกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาอาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว (Tension Headache) เพื่อลดความรุนแรงของอาการปวดและความถี่ของการกำเริบ ควบคู่ไปกับการการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ได้แก่ ความเครียด การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ โดยเทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า TMS มีความปลอดภัยสูงมาก เนื่องจากมีผลอยู่ในวงจำกัดที่แคบมาก เพียง 1-3 เซนติเมตร จากหัวกระตุ้น จึงไม่มีผลกระทบที่อันตรายต่ออวัยวะของร่างกายนั่นเอง
ขั้นตอนการรักษานั้นจะนำหัวส่งคลื่นแม่เหล็กมาวางที่กล้ามเนื้อบริเวณที่ปวด ใช้เวลาเพียง 10-15 นาที โดยควรเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องกันประมาณ 3-5 ครั้ง หรือตามดุลยพินิจของแพทย์ด้านสมองและระบบประสาทจะเป็นผู้ประเมินว่าต้องทำกี่ครั้งรวมถึงความถี่ในการทำต่อสัปดาห์ และจากการเข้ารับการรักษานั้น จะเริ่มเห็นผลประมาณครั้งที่ 2-3 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นวิธีการบรรเทาด้วยการกดจุดหรือรักษาด้วยคลื่นไฟฟ้า ถือว่าเป็นวิธีที่ต้องใช้เวลาด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้น คนไข้อาจจะต้องใจเย็นเพื่อรอดูผลการรักษาเรื่อย ๆ และอัปเดตอาการกับทางแพทย์ตลอดเพื่อการมีประสิทธิภาพในการรักษา ทั้งนี้ การรักษาอย่างเดียวอาจไม่ช่วยอะไรเพราะแม้จะหายก็อาจจะกลับมาเป็นอีกครั้งหากผู้ป่วยไม่ได้ทำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่อาจส่งผลให้ปวดหัวแบบบีบรัด ดังนั้นควรปรับพฤติกรรมร่วมด้วย
———————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วิดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวิดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- ปวดหัวตุ้บ ๆ ข้างขวา อาการแบบนี้เป็นไมเกรนหรือเปล่า?
- โรคหลอดเลือดสมอง: สัญญาณอันตรายของอัมพาต
- 5 เหตุผล ที่คนยุคใหม่ต้องไป “คลินิคกายภาพบำบัด” มากขึ้น