4 ท่าแก้หลังคด ท่าบริหารง่ายๆ ทำได้ด้วยตนเอง
4 ท่าแก้หลังคด เรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่หลาย ๆ คนนิยมหาข้อมูลกันมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากท่ากายภาพนั้นเป็นวิธีบรรเทาภาวะอาการผิดปกติต่าง ๆ ของร่างกายแบบเบื้องต้นที่ผู้ป่วยสามารถทำได้เอง นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ท่ากายภาพแก้หลังคดได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากคนในปัจจุบัน โดยเฉพาะคนในวัยทำงานที่มักประสบปัญหาหลังคดโดยไม่รู้ตัว อย่างไรก็ดี อาจมีผู้อ่านอีกหลายคนที่ไม่ทราบถึงรายละเอียดเกี่ยวกับภาวะความผิดปกติเช่นนี้ ดังนั้น ในบทความนี้เราจะมาทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันว่าหลังคดคืออะไรและมีท่ากายภาพใดบ้างที่แก้ไขได้
4 ท่าแก้หลังคด บรรเทาความผิดปกติของอาการหลังคดให้ดีขึ้นด้วยท่ากายภาพง่ายๆ
เมื่อพูดถึงกระดูกสันหลังคดหลายคนอาจมองว่าไกลตัว ทั้งที่คนไทยเป็นโรคนี้กันมากถึง 2 – 3 % ของประชากรทั้งหมด โดยพบได้ตั้งแต่วัยเด็กถึงผู้ใหญ่ แต่ที่พบมากที่สุดคือช่วงวัยรุ่น เนื่องจากกระดูกมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ที่น่าสนใจคือ โรคกระดูกสันหลังคดส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นแบบไม่ทราบสาเหตุ ต้องอาศัยการสังเกต ตรวจคัดกรอง และเข้ารับการรักษาโดยเร็ว เพื่อให้กลับมาเคลื่อนไหวได้ใกล้เคียงปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม
กระดูกสันหลังคด คือ…
กระดูกสันหลังคด (Scoliosis) คือ การผิดรูปของแนวกระดูกสันหลังจากปกติที่โค้งงอไปด้านหน้าและหลังเล็กน้อย กลายเป็นโค้งงอ คดงอ บิดเบี้ยวไปทางด้านข้าง ส่งผลให้ไหล่ เอว สะโพกไม่เท่ากัน มีลักษณะคล้ายตัว “C” หรือตัว “S” ทำให้ร่างกายเสียสมดุลการทรงตัวซึ่งส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิต
จะรู้ได้อย่างไรว่า “กระดูกสันหลังคด”
อาการและความรุนแรงของกระดูกสันหลังคดแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล สามารถสังเกตได้เบื้องต้น ดังนี้
- ลำตัวเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง
- ไหล่ทั้งสองข้างไม่เท่ากัน
- มองเห็นกระดูกสันหลังคดงออย่างชัดเจน
- สะโพกสองข้างไม่เท่ากัน
- แผ่นหลัง หรือ หน้าอก นูนไม่เท่ากัน
นอกจากนี้อาจมีอาการปวดหลัง ปวดท้อง เจ็บซี่โครง กล้ามเนื้อหดตัว เป็นต้น แต่หากอาการรุนแรงจะส่งผลต่อการทำงานของหัวใจและปอด ให้ทำงานได้ไม่เต็มที่ เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก หายใจติดขัด อีกด้วย ดังนั้นหากสังเกตตนเองและพบอาการเช่นนี้ควรรีบเข้าพบแพทย์โดยเร็วที่สุดเพื่อความปลอดภัย
กระดูกสันหลังคดกลับมาตรง ได้มั้ย รักษายังไงได้บ้าง?
จากข้อมูลที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนั้น ทุก ๆ คนคงเห็นแล้วว่าภาวะนี้เป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย แต่จะมีความเสี่ยงในวัยทำงานที่มักจะมีพฤติกรรมที่ส่งผลต่อการคดของกระดูกสันหลังได้ง่าย อย่างไรก็ตาม กระดูกสันหลังคด สามารถรักษาให้กลับมามีความใกล้เคียงกับภาวะปกติได้ แต่การรักษาดังกล่าวต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและวิธีที่ถูกต้องเท่านั้น ผลการรักษาจึงจะเป็นไปตามที่คาดหวัง
วิธีแก้กระดูกสันหลังคด มีอะไรบ้าง?
วิธีรักษากระดูกสันหลังคดมีหลายวิธีด้วยกัน ได้แก่…
รักษาโดยการผ่าตัด
เมื่อผู้ป่วยมีอาการกระดูกสันหลังคดรุนแรงมากกว่า 60 องศาและทำการรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจใช้การผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลัง (Spinal Fusion) โดยแพทย์จะยึดโลหะชิ้นเล็ก ๆ เข้ากับแนวกระดูกสันหลัง โดยใช้วัสดุตรึงกระดูกไว้ด้วยกัน
รักษาโดยไม่ผ่าตัด
ในกรณีที่กระดูกสันหลังคดไม่มากประมาณ 10 – 30 องศา แพทย์จะแนะนำให้ทำกายภาพบำบัด ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม รวมทั้งการใส่เสื้อเกราะดัดหลัง (Brace) ในผู้ป่วยที่ยังมีการเจริญเติบโตของกระดูกโดยเฉพาะในเด็กและวัยรุ่น เพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกคดงอมากขึ้น ซึ่งเสื้อเกราะดัดหลังจะรับกับส่วนโค้งเว้าของร่างกายผู้ป่วยทั้งบริเวณแขน ซี่โครง หลัง สะโพก โดยสามารถใส่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตลอดทั้งวัน และจะใช้ได้จนถึงช่วงที่กระดูกหยุดการเจริญเติบโต
4 ท่ากายบริหาร บรรเทาอาการหลังคด รักษากระดูกสันหลังคดด้วยตัวเอง
การกายภาพกระดูกสันหลังคด จะคล้ายกับการกายภาพบำบัดออฟฟิศซินโดรม หรือกายภาพของคนปวดหลัง โดยที่จะเน้นไปที่การยืดกล้ามเนื้อ บริหารส่วนหลังเป็นพิเศษ
ท่าเหยียดลำตัวไปด้านข้าง
แยกขาเท่าความกว้างของไหล่ ยกแขนข้างหนึ่งขึ้นเหนือศีรษะแล้วเอนตัวไปด้านข้าง ข้างใดข้างหนึ่ง เอนไปจนเริ่มรู้สึกตึงทำค้างไว้ประมาณ 10 วินาที ทำทั้งสองข้างซ้ายขวา ข้างละ 10 ครั้งต่อเซต ทำวันละ 2-3 เซต
ท่าบิดลำตัวไปด้านข้าง
ยืนตรงกางแขนออกสองข้าง บิดลำตัวไปด้านข้างให้สุดจนรู้สึกตึง ค้างไว้ในท่าบิดตัวข้างละ 10 วินาที ทำทั้งสองข้างซ้ายขวา ข้างละ 10 ครั้งต่อเซต ทำวันละ 2-3 เซต
ท่าปรับแนวกระดูกสันหลังส่วนบน
อยู่ในท่าคลาน ยกแขนแล้ววางมือไว้ที่ใบหูเอียงตัวไปข้างที่อยู่ตรงข้ามกับแขนที่ยกให้รู้สึกตึงบริเวณกลางหลังส่วนบน ค้างไว้ 10 วินาที ทำทั้งสองข้างซ้ายขวา ข้างละ 10 ครั้งต่อเซต ทำวันละ 2-3 เซต
ท่ายืนตรงกางแขน
ยืนตรงกางแขนออกทั้งสองข้าง ผ่อนคลายหน้าอกอย่าเกร็งและกางแขนไปด้านข้างให้มากเท่าที่จะทำได้ ค้างไว้ในท่ากาง10 วินาทีทำ 10 ครั้งต่อเซต ทำวันละ 2-3 เซต
แก้กระดูกสันหลังคดโดยการปรับท่านั่งและท่านอน
สำหรับท่านั่งและท่านอนนั้นถือว่าเป็นท่าทางที่สำคัญมากเพราะต้องทำในทุก ๆ วัน การปรับท่านอนและนั่งจึงเป็นอีกวิธีที่สามารถช่วยบรรเทาได้
กระดูกสันหลังคด ท่านอน ที่ถูกลักษณะ…
โดยทั่วไปแล้ว ผู้ประสบปัญหากระดูกสันหลังคดสามารถนอนท่านอนที่ปกติได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการนอนคว่ำเพราะอาจทำให้ปวดคอและส่งผลต่อการหายใจได้
กระดูกสันหลังคด ท่านั่ง ที่ถูกลักษณะ…
พยายามหลีกเลี่ยงการนั่งไขว่ห้างหรือการนั่งหลังค่อมเพราะเป็นท่านั่งที่ส่งผลต่อกระดูกสันหลังโดยตรงนั่นเอง
กระดูกสันหลังคด กายภาพ วิธีไหนช่วยได้บ้าง?
นักกายภาพบำบัดจะตรวจภาวะกระดูกสันหลังเพื่อประเมินภาวะคดโค้งทั้งแนวกระดูกเพื่อวางแผนการรักษาเฉพาะบุคคล เพราะความคดโค้งของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้น การเลือกใช้เครื่องมือรักษาสำหรับผู้ป่วยแต่ละคนจึงแตกต่างกันออกไป เครื่องมือดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น
เครื่องดึงคอและกระดูกสันหลังไฟฟ้า (Electrical Traction Therapy)
ช่วยยืดกล้ามเนื้อและลดการกดทับเส้นประสาทปรับแนวกระดูกสันหลังส่วนคอและหลังให้อยู่ในแนวปกติ เพิ่มช่องว่างระหว่างแนวกระดูกสันหลัง
เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า (Electrical Stimulator)
เป็นการกระตุ้นกล้ามเนื้อหลังทั้งสองด้านให้ลดการหดสั้นและเกร็งตัวของกล้ามเนื้อหลังและเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อในมัดที่อ่อนแรง ปรับสมดุลของกล้ามเนื้อ และลดอาการปวดสะบัก ปวดหลังและสะโพกได้
ปากกาไฟฟ้า (Point stimulator)
ปากกาไฟฟ้าช่วยคลายความตึงตัวของกล้ามเนื้อมัดเล็กชั้นลึกของแนวกระดูกสันหลังตั้งแต่ส่วนคอถึงส่วนหลัง ทั้งนี้อาจมีการสอนการจัดท่าในการใช้ชีวิตประจำวัน การนั่ง การนอน การทรงตัว การฝึกการหายใจให้ถูกต้องเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของปอด เนื่องจากการออกกำลังกายด้วยวิธีดังกล่าวคือวิธีที่เป็นแบบเฉพาะที่เหมาะสมเพื่อช่วยรักษาให้กระดูกสันหลังกลับเข้าสู่แนวเดิม หรือให้ใกล้เคียงแนวปกติให้มากที่สุด การรักษาจะจำเพาะแตกต่างกันไปโดยขึ้นอยู่กับแต่ละคน
การใส่เสื้อเกราะดัดหลัง (Brace)
แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเด็กที่ยังมีการเจริญเติบโตของกระดูก หรือมีอาการกระดูกสันหลังคดในระดับปานกลางสวมเสื้อเกราะดัดหลัง (Brace) ที่จะช่วยป้องกันกระดูกไม่ให้เกิดความคดงอมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ท่ากายภาพดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการรักษาเท่านั้น สิ่งสำคัญคือผู้ป่วยควรปรึกษานักกายภาพบัดเพื่อวางแผนการรักษา พร้อมให้ข้อมูลและให้ความรู้ทางด้านสรีระ และโครงสร้างของภาวะกระดูกสันหลังคดของผู้ป่วย เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น จัดท่าทาง ฝึกการทรงท่า และการหายใจที่ถูกต้อง เพื่อที่ผู้ป่วยสามารถนำท่าที่ฝึก กลับไปใช้ในชีวิตประจำวัน และจัดโปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมต่อลักษณะของกระดูกสันหลังคดในแต่ละรูปแบบเฉพาะบุคคลนั่นเอง
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วิดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวิดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- นั่งนาน ปวดหลัง แก้ได้ไม่ยาก
- ปวดกล้ามเนื้อหลัง (Myofascial Pain Syndrome)
- กายภาพบำบัดสันหลังคด ฟื้นฟูกระดูกได้โดยไม่ต้องผ่าตัด