ปวดหลังส่วนล่าง ก้มไม่ได้ เพราะกระดูกสันหลังมีปัญหา?
ปวดหลังส่วนล่าง ก้มไม่ได้ เป็นเพราะอะไรกันแน่? เชื่อได้ว่าเป็นข้อสงสัยของผู้ประสบปัญหาหลาย ๆ คนที่มีอาการปวดหลังส่วนล่าง จนไม่สามารถก้มหลังได้ โดยแน่นอนว่ามีปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะนี้หลายอย่างด้วยกัน แต่สิ่งที่ทุกคนกังวลมักจะเป็นการกลัวว่ากระดูกสันหลังกำลังผิดปกติหรือไม่ โดย อาการปวดหลังส่วนล่าง เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยที่สุดของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ โดยร้อยละ 70-90 จะมีอาการปวดหลังส่วนล่างอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต ประมาณร้อยละ 85 ของกลุ่มผู้ป่วยที่เคยมีอาการปวดหลังส่วนล่าง และเคยได้รับการรักษามาก่อนมักกลับมาเป็นซ้ำอีกจนเป็นอาการปวดเรื้อรัง ซึ่งคนทุกเพศทุกวัยสามารถเกิดปัญหาปวดหลังได้ทั้งหมด
ปวดหลังส่วนล่าง ก้มไม่ได้ เป็นสัญญาณความผิดปกติของกระดูกสันหลังหรือไม่?
เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านคงเคยมีอาการ “ปวดหลัง” บางคนปวดมาก บางคนปวดน้อย อาจจะมีอาการเป็นวัน หรือบางคนอาจมีอาการเป็นเดือน เช่น ปวดจากการทำงานหนัก มีสาเหตุจากกล้ามเนื้อ มักเกิดจากการทำท่าทางซ้ำ ๆ ในท่าเดิม ๆ โดยทั่วไปเป็นอาการปวดหลังที่ไม่อันตราย ส่วนใหญ่จะดีขึ้นหลังพัก และไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แต่อาการปวดที่รุนแรง หรือมีอาการนานเป็นเดือน และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน มักจะมาจากสาเหตุที่อันตรายและรุนแรง การปวดหลังลักษณะนี้ต้องรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อรีบหาสาเหตุและรักษาอย่างถูกต้อง อาการปวดหลังสามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 ส่วนที่มีอาการปวด ได้แก่ ปวดหลังส่วนบน ปวดหลังส่วนกลาง และปวดหลังส่วนล่าง โดยอาการปวดหลังส่วนล่าง (Low back pain) เป็นอีกหนึ่งอาการที่พบได้บ่อยในวัยทำงาน โดยจะมีอาการปวดหลังตั้งแต่ระดับคอลงไปจนถึงบริเวณก้นกบ โดยอาการส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในบริเวณบั้นเอวไปจนถึงก้นกบนั่นเอง
ปวดหลังล่าง สาเหตุ มีอะไรบ้าง?
ทุก ๆ คนต้องทราบก่อนว่าการปวดหลังล่างนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ได้เจาะจงเพียงสาเหตุจากกระดูกสันหลังเท่านั้น
การยกของหนัก
สำหรับกลุ่มคนที่ต้องยกของหนักเป็นประจำ มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดอาการปวดหลัง อันเนื่องมาจากน้ำหนักของที่ยกอาจจะมากเกินไป หรือการใช้ท่าทางในการยกของที่ผิด ดังนั้น ควรจะต้องยกของให้ถูกท่า เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดจากการใช้งาน
อุบัติเหตุ
ไม่ว่าจะเป็น พลัดตกหกล้ม การตกจากที่สูง อุบัติเหตุจราจร รวมถึง กลุ่มที่เกิดการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา อาจทำให้เกิดปัญหากระดูกหัก หรือมีการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ และทำให้ปวดหลังส่วนล่างได้
เนื้องอก
สำหรับอาการปวดหลังล่างที่เกิดจากเนื้องอกหรือมะเร็งลามไปที่หลัง เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่จะทำให้เกิดอาการปวดหลังที่ผิดปกติ โดยที่จะมีอาการปวดค่อนข้างมาก กินยาแก้ปวดแล้วไม่ดีขึ้น เช่น ปวดจนต้องตื่นขึ้นมากลางดึก นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลด และเคยมีประวัติเป็นมะเร็งมาก่อน
โรคทางกระดูกสันหลังเสื่อม
พบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะหมอนรองกระดูกสันหลังและข้อต่อจะมีการเสื่อมสภาพลงตามอายุ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ แต่ถ้ามีการกดเบียดทับเส้นประสาทในช่องโพรงกระดูกสันหลังร่วมด้วย หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “กระดูกทับเส้น” ก็จะมีอาการปวดหลังล่างร่วมกับมีอาการปวดร้าวลงขา ชาหรืออ่อนแรงได้
ลักษณะอาการปวดหลังล่าง
1.อาการที่มักจะแสดงออกมาก่อนก็คือ “ปวดหลังล่าง” อาการปวดมักจะปวดร้าวลึกๆข้างในกระดูก ไม่ว่าจะขยับยังไงอาการปวดก็ทุเลาลงได้เพียงชั่วคราว
2. มีอาการปวดขัดๆ แหลมๆบริเวณข้อต่อ กระเบนเหน็บ ในรายที่ปวดมากจะปวดร้าวลงขาด้วย แต่อาการปวดจะทุเลาลงเมื่อเดินไปได้สักระยะ
3. อยู่ท่าใดท่าหนึ่งนานๆไม่ได้ โดยเฉพาะท่านั่งหรือต้องขับรถทางไกลนานๆ รถติดนานๆ ต้องคอยขยับถ่ายน้ำหนักซ้าย-ขวา อยู่นิ่งไม่ได้ และจะปวดเพิ่มขึ้นทันทีเมื่อเปลี่ยนจากท่านั่งเป็นลุกขึ้นยืน
4. ทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันลำบากและยากขึ้น โดยเฉพาะการขึ้นลงบันได การนอน การลุกจากที่นอน บางรายขณะเดินๆอยู่อาจจะรู้สึกเข่าทรุด ขาพับไปเองทั้งที่ไม่มีอาการปวดก็ได้ รู้สึกขาอ่อนแรง เมื่อยล้าง่าย
5. บางรายไม่มีอาการปวดหลัง แต่มีอาการตรงขาหนีบ ปวดตามแนวขอบกางเกงใน บางรายปวดมากจะมีอาการชาร้าวไม่ตามสะโพก เข่า และขาด้านหลัง
โรคที่เกี่ยวกับกระดูกสันหลังที่อาจเกิดขึ้นได้จากการปวดหลังล่าง
จากที่บอกไปว่าอาการปวดหลังนั้น อาจมีความเป็นไปได้ที่มาจากสาเหตุกระดูกสันหลังผิดปกติ ซึ่งหากจำแนกออกเป็นกลุ่มโรค สามารถจัดได้เป็นโรคต่าง ๆ ดังนี้
1.หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม
มีสาเหตุมาจากการสึกหรอตามอายุการใช้งาน เช่นนั่งนานๆ โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ นั่งขับรถเป็นระยะทางไกลๆ เป็นประจำ โดยอาการที่แสดงว่าหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมที่เห็นเด่นชัดคือ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณเอว ลักษณะอาการปวดจะตื้อๆ ระดับเอวอาจร้าวลงมาที่บริเวณกล้ามเนื้อด้านข้างของหลังและสะโพก ซึ่งอาการปวดจะมีส่วนสัมพันธ์กับการใช้งาน จึงทำให้ส่งผลให้อาการปวดส่งผลถึงอวัยวะอื่นๆ ได้ง่าย
2.โรคกระดูกทับเส้น
โรคกระดูกทับเส้น หรือ หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วยด้วยอาการปวดหลัง ปวดขา และเดินได้ในระยะสั้นลงเรื่อย ๆ อาการกระดูกทับเส้น หรือ หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคนี้มักเกิดกับผู้สูงอายุ เนื่องจากการเสื่อมสภาพของข้อกระดูกสันหลังจนทรุดตัว ทำให้ร่างกายตอบสนองด้วยการสร้างกระดูกงอกหรือหินปูนขึ้นเพื่อต้านการทรุดตัวและไปกดทับเส้นประสาท หรือบางครั้งอาจเกิดจากการที่หมอนรองกระดูกเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาท
3.กระดูกสันหลังคด
โรคกระดูกสันหลังคด เป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยทั่วไปส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ มีส่วนน้อยที่อาจเกิดขึ้นจากโรคบางอย่าง เช่น โรคสมองพิการ (cerebral palsy) หรือโรคกล้ามเนื้อเสื่อม (muscular dystrophy) การบาดเจ็บหรือการติดเชื้อในกระดูกสันหลัง ผู้ป่วยส่วนมากมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่ในเด็กบางรายกระดูกสันหลังอาจผิดรูปมากขึ้นเมื่อโตสู่วัยรุ่น
4.กระดูกก้านคอเสื่อม
ผู้ที่เป็นโรคกระดูกคอเสื่อมจะมีอาการเริ่มแรกคือ นอนหลับไม่สนิท บางทีนอนตะแคงไม่ได้ นอนตะแคงแล้วจะเกิดอาการปวดเมื่อย ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ จะใช้หมอนหนาขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นอันหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง และต่อมาจะมีอาการชาหรืออ่อนแรงของมือและแขน บางรายจะมีอาการเหลียวหลังไม่สะดวก ซึ่งหากปล่อยไว้นาน ๆ อาจทำให้ร่างกายพิการได้
แนวทางการรักษาปวดหลังล่าง มีวิธีใดบ้าง?
สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 วิธีหลัก ๆ ดังนี้
ยา
การใช้ยากลุ่มบรรเทาอาการปวด ยาลดการอักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาลดความปวดเส้นประสาท จะถูกจัดให้ตามความเหมาะสม และตามโรคที่คนไข้เป็น แพทย์จะเป็นผู้กำหนดให้เหมาะสมกับตัวโรค และข้อควรระวังในการใช้ยา แต่หากรับประทานยาแก้ปวดแล้วอาการปวดหลังส่วนล่างยังไม่ดีขึ้น ก็จะต้องเพิ่มการรักษาโดยการกายภาพบำบัด หรือทำการรักษาควบคู่กันไป
การผ่าตัด
การรักษาอาการปวดหลังส่วนล่างด้วยการผ่าตัดเป็นวิธีการรักษาขั้นสุดท้ายที่แพทย์จะแนะนำ เมื่อการรักษารูปแบบอื่นๆ ไม่ได้ผล และเป็นโรคที่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการผ่าตัดเท่านั้น เช่น โรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท หรือกระดูกสันหลังเสื่อมกดทับเส้นประสาท เป็นต้น
กายภาพบำบัด
เป็นการรักษาที่เน้นการดูแลรักษา แก้ไขความเจ็บปวด ฟื้นฟูสภาพร่างกายของผู้ป่วยให้กลับมาแข็งแรง ทำให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกมากขึ้น สำหรับผู้ที่ปวดหลังส่วนล่าง แพทย์อาจเพิ่มการรักษาโดยเวชศาสตร์ฟิ้นฟูแบบต่างๆ ที่จะออกแบบโปรแกรมให้กับผู้ป่วยแต่ละคนโดยเฉพาะ ซึ่งมีหลายวิธีด้วยกันดังนี้
- การประคบแผ่นร้อน
- การใช้อัลตราซาวนด์ลดปวด
- การใช้เลเซอร์
- การช็อกเวฟ เพื่อคลายกล้ามเนื้อ ลดอาการปวด
- การใช้ธาราบำบัด เป็นการออกกำลังกาย และฟื้นฟูร่างกายที่ไม่ลงน้ำหนักที่หลังมากเกินไป โดยจะมีโปรแกรมให้คนไข้ออกกำลังกายในน้ำ พร้อมด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ
ท้ายที่สุด นี่เป็นเพียงการสันนิษฐานเท่านั้น หากไม่แน่ใจว่าอาการปวดหลังที่เป็นอยู่นั้นเป็นเพราะความผิดปกติของกระดูกสันหลังหรือไม่ ควรตรวจหาสาเหตุของอาการปวดหลัง ด้วยการเอกซเรย์หรือการวินิจฉัยด้วย MRI ซึ่งจะทำให้เห็นรายละเอียดต่างๆ ของโครงสร้างกระดูกสันหลัง ช่วยให้การวินิจฉัยโรคง่ายขึ้น ทำให้ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง เหมาะสมและรวดเร็ว
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- “โรคกระดูกสันหลัง” โรคที่ควรระวังปล่อยไว้อาจส่งผลเสีย
- ปวดกล้ามเนื้อหลัง (Myofascial Pain Syndrome)
- “ผ่าตัดกระดูกสันหลัง” กับ 8 คำถามที่ต้องรู้คำตอบ