ปวดหัวตลอดเวลา ไม่มีไข้ อาจเกิดจากการตึงของกล้ามเนื้อแบบไม่รู้ตัว
ปวดหัวตลอดเวลา ไม่มีไข้ เกิดขึ้นได้จริงมั้ย? หลาย ๆ คนอาจคิดว่าอาการปวดหัวที่เรามักเป็นนั้น ต้องเกิดขึ้นจากการเป็นไข้เท่านั้น จึงอาจจะทำให้สงสัยว่าหากไม่เป็นไข้แล้ว อาการปวดหัวสามารถเกิดขึ้นได้จริงหรือ ซึ่งคำตอบคือสามารถเกิดขึ้นได้จริง โดยสาเหตุหลัก ๆ มักเกิดจากอาการตึงตัวของกล้ามเนื้อที่ทำให้ผู้ประสบปัญหามีอาการปวดหัวอยู่ตลอดจนกลายเป็นภาวะเรื้อรังในที่สุด ซึ่งหากเกิดปัญหานี้ เราควรรับมืออย่างไร มาดูไปพร้อม ๆ กัน
ปวดหัวตลอดเวลา ไม่มีไข้ เกิดจากอะไร มาไขข้อสงสัยไปพร้อม ๆ กัน
อาการปวดหัวตลอดเวลา หรือ ภาวะปวดหัวเรื้อรัง คือ อาการปวดหัวมากกว่า 15 วันต่อเดือน ติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน ที่อาจเกิดจากความเครียด เช่น เมื่อเกิดความเครียดจากการทำงานจะทำให้กล้ามเนื้อตึงตัวจนปวดหัว หรืออาจเป็นไมเกรน การกินยาแก้ปวดเกินขนาด รวมถึงใช้ยาแก้ปวดไม่ถูกต้อง ทำให้มีอาการปวดหัวเรื้อรังมากขึ้น นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากโรคต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ไซนัสอักเสบ เนื้องอกในสมอง เป็นต้น
อาการปวดหัวเรื้อรัง มีกี่ประเภท?
อาการหลักๆ ของการปวดหัวเรื้อรังแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามความรุนแรงคือ
1. ปวดเรื้อรังแบบเป็นอันตราย
เช่น เส้นเลือดสมองโป่งพอง ความดันโลหิตสูง
2. ปวดเรื้อรังแบบไม่เป็นอันตราย แต่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน
เช่น ความเครียดจากเรื่องต่าง ๆ การใช้ความคิดและการนั่งทำงานนาน ๆ แสงสว่างไม่พอ เกิดความตึงของกล้ามเนื้อ อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
ซึ่งแม้ว่าอาการปวดหัวเรื้อรังจะรักษาไม่หายขาด แต่สามารถป้องกันและทำให้บรรเทาลงได้ ซึ่งบางคนอาจคิดว่าแค่ซื้อยามาทานก็หายได้ หรือไปนวดก็ได้ แต่ความจริงแล้ว การปวดหัวเรื้อรังนี้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาเองโดยไม่ปรึกษาหมอ เช่น การติดยา การใช้ยาเกินขนาดจนส่งผลต่อตับและไต การนวดที่รุนแรงอาจทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเลือดบาดเจ็บ เป็นต้น
ปวดหัวเรื้อรังรักษาได้ไหม?
การรักษาอาการปวดหัวเรื้อรังก็จะแบ่งตามความรุนแรง หากพบว่าปวดหัวเรื้อรังในลักษณะที่ไม่ก่ออันตราย หมอจะให้ยาแก้ปวด คลายกล้ามเนื้อหรือคลายเครียด และแนะนำวิธีการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ถ้าในกรณีที่ปวดหัวเรื้อรังที่ก่อให้เกิดอันตรายจะต้องพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อเข้ารับการรักษาตามโรคนั้น ๆ
แนวทางในการรักษาอาการปวดหัวเรื้อรังเบื้องต้น
สามารถแบ่งได้หลัก ๆ 2 แนวทางด้วยกัน ประกอบด้วย…
การบริหารจัดการความเครียด และพักผ่อนให้เพียงพอ
สามารถปฏิบัติได้ในเบื้องต้นคือการหาเวลาพักผ่อนให้เพียงพอ และบริหารจัดการความเครียดที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ผ่อนคลายด้วยกิจกรรมที่เพลิดเพลินต่าง ๆ
การนวดแผนไทย การฝังเข็ม และการกายภาพบำบัด
การรักษานี้จะใช้ได้ผลกับโรคปวดหัวชนิด tension-type ที่เกิดจากการตึงตัวของกล้ามเนื้อบริเวณศีรษะและคอ การนวด ฝังเข็ม กายภาพบำบัด หรือแม้แต่ประคบร้อนจะช่วยบรรเทาอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ และทำให้อาการปวดหัว ปวดต้นคอลดลงได้ แต่การบรรเทาอาการปวดนี้ใช้ได้ชั่วคราว หากสาเหตุยังไม่ได้รับการแก้ไข อาจจะกลับมาปวดอีกได้
คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า TMS เทคโนโลยีทางกายภาพบำบัดเพื่อบรรเทาอาการปวดตึงขมับ
เทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า TMS หรือ การกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาอาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว (Tension Headache) เพื่อลดความรุนแรงของอาการปวดและความถี่ของการกำเริบ
ขั้นตอนการรักษานั้นจะนำหัวส่งคลื่นแม่เหล็กมาวางที่กล้ามเนื้อบริเวณที่ปวด ใช้เวลาเพียง 10-15 นาที โดยควรเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องกันประมาณ 3-5 ครั้ง หรือตามดุลยพินิจของแพทย์ด้านสมองและระบบประสาทจะเป็นผู้ประเมินว่าต้องทำกี่ครั้งรวมถึงความถี่ในการทำต่อสัปดาห์
เบื้องต้นควรสังเกตอาการตนเองอย่างใกล้ชิด ถ้าเป็นอาการชาหนา ๆ เหมือนไม่รู้สึก เป็นครึ่งซีก มีกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย ให้รีบไปพบแพทย์ และในขณะนี้ควรที่จะหลีกเลี่ยงการทำท่าที่กดทับบริเวณที่เป็น ออกกำลังกายสม่ำเสมอและควรทำการยืดเหยียดกล้ามเนื้อเป็นประจำ ถ้านอนหมอนสูงแล้วสัมพันธ์กับอาการให้ลองเปลี่ยนเป็นหมอนที่ระดับพอดีกับศีรษะดูก่อนเพื่อสังเกตอาการต่อไป
อย่างไรก็ดี ในการรักษาอาการปวดขมับนั้น นอกจากการรักษาจากการแพทย์แล้ว ควรมีการดูแลตนเองของคนไข้ร่วมด้วย เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ ใครที่เคยนอนดึกก็นอนให้เร็วขึ้น หรือใครที่มีความเครียดได้ง่ายก็อาจจะหาทางในการผ่อนคลายความเครียดนั้น ๆ เพื่อไม่ให้เกิดอาการปวดบีบเช่นนี้ขึ้น เพราะแม้การปวดหัวแบบ Tension จะไม่มีอยู่ในการอาการปวดหัวแบบอันตราย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยควรปล่อยปละละเลยได้ เพราะในอนาคตอาจส่งผลให้เกิดผลเสียได้นั่นเอง
———————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วิดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวิดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- ปวดหัวตุ้บ ๆ ข้างขวา อาการแบบนี้เป็นไมเกรนหรือเปล่า?
- โรคหลอดเลือดสมอง: สัญญาณอันตรายของอัมพาต
- นั่งนานปวดเอว หากไม่รีบแก้อาจเป็นเรื้อรัง