ปวดหัวตื้อๆ หนักๆ จากการตึงกล้ามเนื้อ แก้ได้ด้วยกายภาพบำบัด
ปวดหัวตื้อๆ หนักๆ ดูเหมือนจะเป็นอาการปวดหัวธรรมดาแต่ที่จริงแล้วอาจส่งผลต่อสุขภาพของเรามากกว่าที่คิด ซึ่งโดยส่วนใหญ่ หลาย ๆ คนอาจคิดว่าการปวดหัวต้องเกิดจากการเป็นไข้เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว “การปวดตึงกล้ามเนื้อจากความเครียด” ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวเช่นกัน ซึ่งหลัก ๆ ลักษณะอาการจะแสดงออกมาเป็นอาการปวดตื้อ ๆ หนักที่หัว เป็นต้น ซึ่งอาการนี้สามารถรักษาหายได้ด้วยการวิธีทางกายภาพบำบัดเช่นกัน
ปวดหัวตื้อๆ หนักๆ เกิดจากอะไร หากอยากรักษาด้วยการทำกายภาพฯ ควรรักษาด้วยวิธีไหน?
ทุกคนล้วนเคยมีอาการปวดศีรษะ และคนทั่วไปมากกว่า 90% จะเคยปวดศีรษะอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต อาการปวดศีรษะเกิดได้จากหลายสาเหตุ ตำแหน่งของการปวดที่แตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่มักจะไม่มีอันตรายแก่ร่างกาย ซึ่งรวมถึงอาการปวดตื้อๆ ปวดแบบบีบ ๆ รัด ๆ ในบางรายที่มีอาการหนัก ๆ อาจมีอาการปวดบริเวณขมับ หน้าผาก กลางศีรษะ และท้ายทอยร่วมด้วย ซึ่งนั่นอาจเป็นสัญญาณว่าเราอาจกำลังประสบปัญหาปวดหัวจาก “ภาวะกล้ามเนื้อตึงตัวจากความเครียด” เข้าแล้ว
โรค Tension Headache คือ…
อาการปวดศีรษะจากความเครียด กล้ามเนื้อตึงตัว ผู้ป่วยมักมีประวัติการปวดศีรษะในช่วงสาย ๆ มีลักษณะการปวดแบบบีบรัดที่ขมับ มักเกิดจากการทำงานที่ต้องใช้สายตาเป็นหลัก หรืออาการปวดศีรษะที่เกิดจากอวัยวะข้างเคียง เช่น ไซนัสอักเสบ กระดูกคอเสื่อม เหงือกอักเสบ คออักเสบ หรือหูอักเสบ เป็นต้น
สาเหตุเกิดจาก
อาการปวดหัวชนิดนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อดนอน เครียด ใช้สมองหรือสายตาเป็นเวลานาน ๆ การปวดมีลักษณะตึง ๆ ตื้อ ๆ บางคนอาจปวดจี๊ด ๆ ร่วมด้วย มักปวดที่ขมับหน้าผากหรือรอบศีรษะ (ข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้) อาการปวดมักจะเริ่มตอนสาย ๆ หรือบ่าย หรือ เมื่อเริ่มเคร่งเครียดกับงานนาน ๆ แล้วมักจะปวดต่อไปทั้งวัน อาจไม่รุนแรงแต่พอทำให้รู้สึกรำคาญได้
ลักษณะอาการ
อาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัวพบได้บ่อย มักมีอาการปวดที่ต้นคอ อาจร้าวไปถึงขมับสองข้างหรือปวดทั่วศีรษะ ปวดตื้อ มึน เหมือนอะไรมาบีบมารัด อาการค่อย ๆ เป็น มักเริ่มตอนบ่ายหรือเย็น อาการปวดอาจเป็นชั่วโมง วัน สัปดาห์ เดือน หรือปีก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเครียดและการพักผ่อน
อาการปวดหัวแบบ Tension Headache อันตรายหรือไม่?
การปวดศีรษะ เป็นอาการที่มีสัดส่วนมากที่สุดที่คนไข้จะเดินเข้ามาในแผนกอายุรกรรมสมอง และระบบประสาท สาเหตุอาจจะเกิดจากการดำเนินชีวิตในสังคมสมัยใหม่ที่เปลี่ยนไป ทุกคนต่างเร่งรีบ อาจมีความเครียดและอดนอน แต่อาการปวดศีรษะไม่ได้เกิดจากแค่ความเครียดหรือการอดนอนก็ได้ อาจจะเป็นอาการนำของโรคอันตรายที่ทำให้พิการหรือเสียชีวิตก็ได้ ซึ่งอาการปวดหัวมีทั้งแบบกลุ่มที่อันตรายและไม่อันตราย โดยการปวดหัวแบบ Tension Headache จัดอยู่ในประเภทที่ไม่อันตรายโดยจะแสดงอาการที่มีรูปแบบเฉพาะ เช่น มีอาการปวดหัวเป็น ๆ หาย ๆ คือจะต้องมีช่วงที่หายสนิทเกิดขึ้น แต่ละโรคก็จะมีระยะเวลาที่แตกต่างกัน โดย ปวดหัว Tension อาจจะปวดได้เป็นวันหรือเป็นสัปดาห์ แล้วก็เป็นใหม่ ขึ้นอยู่กับตัวกระตุ้น
คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า TMS เทคโนโลยีทางกายภาพบำบัดเพื่อบรรเทาอาการปวดตึงขมับ
เทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า TMS หรือ การกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาอาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว (Tension Headache) เพื่อลดความรุนแรงของอาการปวดและความถี่ของการกำเริบ
ขั้นตอนการรักษานั้นจะนำหัวส่งคลื่นแม่เหล็กมาวางที่กล้ามเนื้อบริเวณที่ปวด ใช้เวลาเพียง 10-15 นาที โดยควรเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องกันประมาณ 3-5 ครั้ง หรือตามดุลยพินิจของแพทย์ด้านสมองและระบบประสาทจะเป็นผู้ประเมินว่าต้องทำกี่ครั้งรวมถึงความถี่ในการทำต่อสัปดาห์
เบื้องต้นควรสังเกตอาการตนเองอย่างใกล้ชิด ถ้าเป็นอาการชาหนา ๆ เหมือนไม่รู้สึก เป็นครึ่งซีก มีกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย ให้รีบไปพบแพทย์ และในขณะนี้ควรที่จะหลีกเลี่ยงการทำท่าที่กดทับบริเวณที่เป็น ออกกำลังกายสม่ำเสมอและควรทำการยืดเหยียดกล้ามเนื้อเป็นประจำ ถ้านอนหมอนสูงแล้วสัมพันธ์กับอาการให้ลองเปลี่ยนเป็นหมอนที่ระดับพอดีกับศีรษะดูก่อนเพื่อสังเกตอาการต่อไป
อย่างไรก็ดี ในการรักษาอาการปวดขมับนั้น นอกจากการรักษาจากการแพทย์แล้ว ควรมีการดูแลตนเองของคนไข้ร่วมด้วย เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ ใครที่เคยนอนดึกก็นอนให้เร็วขึ้น หรือใครที่มีความเครียดได้ง่ายก็อาจจะหาทางในการผ่อนคลายความเครียดนั้น ๆ เพื่อไม่ให้เกิดอาการปวดบีบเช่นนี้ขึ้น เพราะแม้การปวดหัวแบบ Tension จะไม่มีอยู่ในการอาการปวดหัวแบบอันตราย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยควรปล่อยปละละเลยได้ เพราะในอนาคตอาจส่งผลให้เกิดผลเสียได้นั่นเอง
———————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วิดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวิดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- ปวดหัวตุ้บ ๆ ข้างขวา อาการแบบนี้เป็นไมเกรนหรือเปล่า?
- โรคหลอดเลือดสมอง: สัญญาณอันตรายของอัมพาต
- นั่งนานปวดเอว หากไม่รีบแก้อาจเป็นเรื้อรัง