ชาหัวด้านหลัง แก้ยังไง 5 ท่านวดศีรษะง่าย ๆ ช่วยบรรเทาอาการ
ชาหัวด้านหลัง เกิดได้จากหลายสาเหตุโดยเฉพาะความเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ยังมีปัจจัยในเรื่องของระบบประสาทเข้ามาร่วมด้วย การมีภาวะเหน็บชาบริเวณหลังศีรษะหรือบริเวณท้ายทอยนั้น แม้จะไม่ได้สร้างความเจ็บปวดมากมาย แต่ก็สร้างความรำคาญใจให้แก่ผู้ป่วยไม่ใช่น้อย เพราะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตทำให้ทำกิจกรรมระหว่างวันได้อย่างลำบาก โดยระยะของอาการของแต่ละคนก็สั้นและยาวต่างกันออกไป ในบางกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการสักครู่และหายเองก็ดีไป แต่ในบางกรณีก็มีอาการอยู่นานและไม่สามารถหายเองได้ ดังนั้นในบทความนี้เราจะมาทำความเข้าใจกันว่าอาการลักษณะนี้เกิดขึ้นจากสาเหตุใดได้บ้างพร้อมเทคนิคท่านวดศีรษะช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้น
ชาหัวด้านหลัง มีสาเหตุมาจากอะไร อันตรายหรือไม่?
อาการชาเกิดขึ้นได้ในทุกส่วนของร่างกาย แต่ที่พบได้บ่อย คือ บริเวณมือและเท้า เช่น มือชา เท้าชา ชาปลายนิ้วมือ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมผู้ป่วยจึงเกิดความกังวลเมื่อศีรษะมีภาวะอาการนี้ เนื่องจากเป็นจุดที่ไม่ค่อยมีใครพบเจอ จึงยิ่งทำให้หลาย ๆ คนรู้สึกว่าอาการผิดปกติทางศีรษะชนิดนี้ต้องเป็นสัญญาณอันตรายอย่างหนึ่งอย่างแน่นอน อย่างไรก็ดี อาการเบื้องต้นของอาการเหน็บชา มักประกอบด้วยยิบ ๆ ซ่า ๆ เหมือนเข็มทิ่ม ปวดแสบร้อน เสียวคล้ายไฟช็อต ส่งผลให้เกิดความลำบากในการใช้ชีวิต ดังนั้นจึงต้องศึกษารายละเอียดและวิธีการรักษาเกี่ยวกับโรคนี้ให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะได้เข้ารับการรักษาที่ถูกจุดและดูแลตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง
ชาศีรษะด้านหลัง เกิดจาก…
สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน ซึ่งจะมาจากภาวะเจ็บปวดของศีรษะเป็นส่วนใหญ่ เช่น
-
ปวดหัวจากกล้ามเนื้อ
มักเกิดจากการใช้งาน ทำให้ปวดมากตอนเย็น เป็นปวดตุ้บ ๆ เหมือนมียางมารัดศีรษะ อาจมีอาการชาร่วมด้วยได้จากการอักเสบบริเวณปลายประสาท เพราะมักสัมพันธ์กับท่าทาง จึงทำให้เกิดอาการปวดได้ง่าย
-
ปลายเส้นประสาทอักเสบ
เกิดจากอาการปลายเส้นประสาทอักเสบ หรือการที่เส้นประสาทถูกกดทับอย่างผิดท่านาน ๆ
-
ปวดหัวไมเกรน
โดยอาการปวดในช่วงแรกมักมีความรุนแรงเพียงเล็กน้อย และจะค่อย ๆ เพิ่มความรุนแรงขึ้น มักปวดข้างเดียว มีคลื่นไส้อาเจียน ตาพร่าร่วมด้วย
-
ออฟฟิศซินโดรม (คอ,บ่า,ไหล่)
ความอ่อนล้าจากการทำงานเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เราปวดหัวได้บ่อย ๆ เพราะขณะที่เราทำงานเราอาจจะรู้สึกเครียด ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณ คอ บ่าไหล่ ตึงแข็ง และส่งผลให้อาการปวดจากบริเวณดังกล่าวมีผลข้างเคียงต่อระบบประสาทบริเวณศีรษะไปด้วยนั่นเอง
ชาที่ด้านหลังศีรษะ เช่นนี้ อันตรายหรือไม่?
หากเป็นมาหลายเดือนแล้วไม่ได้ปวดเพิ่มมากขึ้น หรือมีความผิดปกติของระบบประสาทดังกล่าวไป โอกาสที่จะมีอาการปวดหัวที่มีสาเหตุจากในสมองนั้นถือว่ามีน้อยมาก ๆ ดังนั้น อาจสรุปได้ว่าเกิดจากปัจจัยของกล้ามเนื้อและปลายเส้นประสาทที่อักเสบมากกว่า
แต่หากยังปวดหัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวัน ปวดจนทำกิจวัตรประจำวันไม่ได้ ปวดจนต้องตื่นมาตอนกลางคืน มีความผิดปกติของระบบประสาทร่วมด้วยดังกล่าวไป ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเพิ่มเติมว่าอาจเป็นอาการปวดหัวที่มีสาเหตุจากในสมองได้หรือไม่ เพื่อที่จะได้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที
หากมีอาการนี้ ควรดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตัวเองเบื้องต้น ให้รับประทานยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ พักผ่อนมาก ๆ งดกิจกรรมที่ต้องใช้แรง หลีกเลี่ยงการก้มที่ทำให้ปวดหรือชามากขึ้น ทั้งนี้ควรที่จะหลีกเลี่ยงการทำท่าที่กดทับบริเวณที่เป็น ออกกำลังกายสม่ำเสมอและควรทำการยืดเหยียดกล้ามเนื้อเป็นประจำ ถ้านอนหมอนสูงแล้วสัมพันธ์กับอาการให้ลองเปลี่ยนเป็นหมอนที่ระดับพอดีกับศีรษะดูก่อน หากไม่ดีขึ้นก็ให้รีบเข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป
5 ท่านวดลดอาการชาช่วงหลังศีรษะ (บริเวณท้ายทอย)
1.นวดตรงกลางระหว่างคิ้ว
ใช้นิ้วชี้หรือนิ้วที่ถนัดกดนวดด้วยแรงปานกลาง บริเวณหน้าผาก ตรงกลางระหว่างคิ้วทั้งสองข้าง นอกจากจะเป็นการกดจุดแก้ปวดหัวแล้ว ว่ากันว่าช่วยให้ความดันโลหิตไหลเวียนดีขึ้นอีกด้วย
2. นวดบริเวณบ่า
ใช้ปลายนิ้วมือขวาบีบไหล่ซ้ายไล่จากบ่าเข้าหาท้ายทอย กดนวดให้รู้สึกผ่อนคลายคุณก็จะสามารถบรรเทาอาการปวดหัว และความอ่อนล้าจากการทำงานหนักได้ดี
3.นวดบริเวณขมับ
สำหรับจุดนี้ให้ใช้มือแตะด้านบนของหัว แล้วกางนิ้วโป้งลงกดบริเวณด้านขมับ หรือด้านบนของหู นวดวนด้วยแรงระดับกลาง 30 วินาที จะช่วยบรรเทาในเรื่องอาการเมื่อยล้าทางสายตา อาการวิงเวียนหูอื้อ และลดอาการปวดหัวได้ดี
4.นวดใต้คิ้วทั้งสองข้าง
ช่วยในการผ่อนคลายอาการตึงบริเวณใบหน้าซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของบริเวณศีรษะ อีกทั้งยังเป็นจุดที่มีเส้นประสาทรวมกันอยู่มาก จึงทำให้การนวดบริเวณนี้สามารถช่วยในการผ่อนคลายอาการแข็งตึงของใบหน้า ทำให้หายใจสะดวก โล่งจมูก สามารถทำได้บ่อย ๆ หรือทำเป็นอีกหนึ่งอิริยาบถที่เราเปลี่ยนท่าทางขณะนั่งทำงานนาน ๆ ก็ได้
5.นวดเนื้อคอด้านหลัง
ตำแหน่งกล้ามเนื้อหลังคอเป็นตำแหน่งที่มีจุดกดเจ็บเป็นอันดับแรก ๆ ของกล้ามเนื้อเลยก็ว่าได้ นอกจากกล้ามเนื้อ Trapezius ที่กล่าวไปแล้วยังมีกล้ามเนื้ออีกตัวที่ชื่อ Leavator Scapulae ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่มีปัญหาความตึงตัวและส่งผลให้เกิดอาการปวดคอได้เช่นกัน ซึ่งการนวดกดจุดในตำแหน่งนี้จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อคอคลายตัวได้ดีขึ้น ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อและส่งผลให้เลือดไหลเวียนดีขึ้นได้นั่นเอง
การรักษาทางกายภาพบำบัดด้วยวิธีอื่น ๆ
เนื่องจากอาการชาท้ายศีรษะอาจเกิดขึ้นได้จากภาวะการปวดบริเวณต้นคอ ดังนั้น วิธีนี้จะเป็นการนำศาสตร์กายภาพบำบัดเข้ามาช่วยในการรักษา ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการดูแลอย่างดีจากนักกายภาพบำบัดผู้เชี่ยวชาญ ที่จะมาสอนในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การจัดระเบียบท่าทางที่ถูกต้อง การออกกำลังกายบริเวณคอ อีกทั้งยังมีการนำอุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยในการบรรเทาอาการปวดคอ ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยความร้อน ความเย็น หรือเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า และการใช้เครื่องดึงคอ หรือการฝังเข็มเฉพาะจุดเพื่อช่วยทำให้ช่องระหว่างกระดูกสันหลังบริเวณคอของผู้เข้ารับบริการกว้างขึ้น ยืดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นต่าง ๆ ที่แข็งเกร็ง และช่วยลดการกดทับของเส้นประสาทได้
ดังนั้น หากเกิดอาการที่ผู้ป่วยรู้สึกว่าเกินการควบคุมของตนเอง แนะนำให้เข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดจะดีกว่า ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้มีอาการด้วย
———————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วิดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวิดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- ปวดหัวตุ้บ ๆ ข้างขวา อาการแบบนี้เป็นไมเกรนหรือเปล่า?
- โรคหลอดเลือดสมอง: สัญญาณอันตรายของอัมพาต
- 5 เหตุผล ที่คนยุคใหม่ต้องไป “คลินิคกายภาพบำบัด” มากขึ้น