โรคที่ต้องรักษาด้วยกายภาพบำบัด 5 โรคนี้ กายภาพช่วยได้
โรคที่ต้องรักษาด้วยกายภาพบำบัด หากพูดถึงหนึ่งในหลาย ๆ วิธีการรักษาที่คนไข้จะเลือก กายภาพบำบัดคงเป็นหนึ่งในลิสต์ของวิธีการรักษาโรคที่ตนเองกำลังเป็นอยู่ เนื่องจากการรักษาเช่นนี้เป็นการรักษาภาวะอาการในระยะยาว สามารถบรรเทาอาการเจ็บปวดได้ และไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยที่กังวลอีกด้วย อย่างไรก็ตาม หลาย ๆ คนอาจยังไม่รู้ว่า กายภาพบำบัด สามารถรักษาได้หลายโรคทีเดียว ซึ่งในบทความนี้เราจะนำ 5 โรคหลัก ๆ ที่การทำกายภาพสามารถช่วยได้มาฝากกันเพื่อเป็นความรู้พื้นฐานในการทราบวิธีการรักษา 5 โรคต่าง ๆ ดังกล่าวในอนาคต
โรคที่ต้องรักษาด้วยกายภาพบำบัด มีโรคอะไรบ้าง การทำกายภาพสามารถช่วยได้จริงไหม?
“กายภาพบำบัด” หากพูดถึงคำคำนี้หลาย ๆ คนคงมองว่าการทำกายบริหารเช่นนี้ถูกจำกัดไว้กับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียงเท่านั้น หากแต่ความเชื่อนั้นผิดถนัดเพราะแท้จริงแล้วการทำกายภาพสามารถทำได้กับคนทุก ๆ วัยและในหลาย ๆ อาชีพอีกด้วย เช่น นักกีฬา ที่ต้องทำกายภาพทั้งก่อนและหลังแข่งขันเพราะต้องเตรียมความพร้อมให้แก่ร่างกาย รวมไปถึง อาการปวดเมื่อยจากการนั่งทำงานนาน ๆ ของวัยทำงานหรือที่เรารู้จักกันในนาม “ออฟฟิศซินโดรม” นั่นเอง
กายภาพบำบัด คืออะไร?
การทำกายภาพ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Physical therapy เป็นวิธีทำกายบริหารต่าง ๆ เพื่อการฟื้นฟูและช่วยเสริมความสามารถในการใช้ร่างกายและการเคลื่อนไหวให้ดีมากขึ้น โดยมีเทคนิคในการทำกายภาพหลายประเภท เช่น การดึง การนวด การประคบ และการทำกายบริหารง่าย ๆ เป็นต้น ซึ่งผู้ที่จะเข้ารับการทำกายภาพจะถูกใช้วิธีที่แตกต่างกันออกไป
วิธีการทำกายภาพบำบัดมีกี่แบบ และมีแบบไหนบ้าง
จากที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า การทำกายภาพ นั้นมีหลายเทคนิคและหลายวิธี มีหลายเครื่องมือและหลายตัวช่วยที่ใช้ในการรักษา ตั้งแต่แบบทั่วไป เช่น แผ่นประคบร้อน-เย็น ที่คนทั่วไปสามารถหาซื้อได้เองจนกระทั่งการใช้เทคนิคไฟฟ้าและเลเซอร์รักษา โดยเครื่องมือดังกล่าวก็จะถูกใช้ในทางที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งประเภทในการทำกายภาพก็เช่นกันที่ถูกแบ่งออกเป็นหลายแบบ ดังนี้
-
กายภาพสำหรับระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ
-
กายภาพสำหรับระบบประสาท
-
กายภาพสำหรับการกีฬา
-
กายภาพสำหรับระบบทรวงอกหลอดเลือดและหัวใจ
-
กายภาพสำหรับด้านอื่น ๆ
5 โรคที่สามารถรักษาได้ด้วยการทำกายภาพบำบัด
ปวดหลัง (Back Pain/HNP)
อาการ
ส่วนใหญ่มักเกิดจากการนั่งทำงานหรือกิจกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน อาจเกิดจากการที่กล้ามเนื้อบริเวณเอวเคล็ดหรือฉีกขาดฉับพลัน หรือเกิดจากภาวะกระดูกสันหลังเสื่อมและกดทับเส้นประสาท หรือมีอาการจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้การทำกายภาพบำบัดสามารถช่วยรักษาหรือบรรเทาอาการได้
พฤติกรรมและภาวะเสี่ยง
- นั่งทำงานในท่าเดิมเป็นระยะเวลานาน ๆ
- ขับรถนานหรือระยะทางไกล ๆ
- มีอาการปวดหลังขณะยกของหนักหรือล้มก้นกระแทก
นิ้วล็อค (Trigger Finger)
อาการ
เกิดจากการหนาตัวของปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่อยู่ตรงกับกระดูกฝ่ามือ จึงทำให้เกิดอาการอักเสบและการตีบแคบของปลอกหุ้มเส้นเอ็นทำให้เคลื่อนไหวข้อนิ้วลำบาก
พฤติกรรมและภาวะเสี่ยง
- มีอาการปวดข้อนิ้ว งอหรือเหยียดนิ้วได้ไม่สุด หากจะเหยียดนิ้วต้องใช้มืออีกข้างนึงช่วย
- พิมพ์งานนาน ๆ
- หิ้วหรือถือของหนักเกินไป
- ทำงานบ้านหรือทำอาหาร ถืออุปกรณ์ทำครัวเป็นประจำ
ปวดคอ บ่า ไหล่ หลัง สะบัก (Office Syndrome)
อาการ
เป็นอาการที่เกิดจากการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังและเยื่อผังผืด ซึ่งเกิดจากการทำกิจกรรมเดิมซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลานานทำให้มีจุดกดเจ็บ (Trigger point) ในเนื้อเยื่อ โดยจุดกดเจ็บนี้สามารถทำให้เกิดอาการปวดและตึงได้
พฤติกรรมและภาวะเสี่ยง
- ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์นานติดต่อกันเกิน 6 ชั่วโมง/วัน
- นั่งทำงานในท่าทางซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่อง
- สภาพแวดล้อมในการทำงานไม่เหมาะสม เช่น ระดับความสูงของโต๊ะ หรือลักษณะของเก้าอี้ที่นั่งทำงาน
ปวดเข่า (Knee Pain)
อาการปวดเข่า
เกิดขึ้นได้ด้วยหลากหลายสาเหตุ ในผู้สูงอายุ มักเกิดจากภาวะข้อเข่าเสื่อมจากการใช้งานมาอย่างยาวนานจนผิวข้อกร่อน เข่าผิดรูป โก่งงอ อีกสาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากแรงกระทำที่มากเกินไปกับข้อเข่า เช่นการเล่นกีฬาหรือเคยรับอุบัติเหตุที่เข่าและในคนที่มีน้ำหนักตัวมาก สามารถทำให้เกิดอาการปวดเข่าได้เช่นกัน
พฤติกรรมและภาวะเสี่ยง
- ภาวะเข่าเสื่อม
- ปวดเข่าหลังเล่นกีฬา
- ได้รับอุบัติเหตุหรือเกิดการบาดเจ็บในการใช้ชีวิตประจำวัน
ปวดไหล่/ไหล่ติด (Shoulder Pain/Frozen Shoulder)
อาการ
ส่วนใหญ่มักเกิดจากการทำงานและกิจกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งการใช้งานซ้ำ ๆ ก่อให้เกิดการเสียดสีและอักเสบ ของเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณรอบข้อไหล่ ในผู้สูงอายุมักมีอาการเสื่อมจากการใช้งานมากไป
พฤติกรรมและภาวะเสี่ยง
- กางหรือยกแขนได้ไม่สุด ใช้มือเอื้อมหยิบของจากที่สูงลำบาก
- เล่นกีฬา ออกกำลังกายในท่าที่ต้องใช้แขนและไหล่ลำบาก
- ปวดไหล่ตอนกลางคืนขณะพลิกตัวเอียงตัว
ประโยชน์ของการทำกายภาพบำบัด
จริงอยู่ที่จุดประสงค์หลัก ๆ ของการทำกายภาพนั้นคือการฟื้นฟูร่างกายให้ใช้งานได้ดีขึ้น แต่แท้จริงแล้วผู้ที่เข้ารับการทำกายบริหารเช่นนี้ยังได้รับประโยชน์อื่น ๆ อีกมาก เช่น
-
บรรเทาอาการปวด
-
ฟื้นฟูร่างกายที่บาดเจ็บและช่วยเสริมสร้างการใช้ร่างกายให้ดีขึ้น
-
มีส่วนช่วยในการลดโอกาสที่จะพิการและประคองอาการป่วยจากโรคเรื้อรัง
-
เพิ่มความสามารถในการเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น
ท้ายที่สุด ทั้ง 5 โรคนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่รักษาได้ด้วยกายภาพบำบัดเท่านั้น ซึ่งยังมีอีกหลายโรคมาก ๆ ที่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีนี้ ซึ่งถ้าหากผู้อ่านท่านใดต้องการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ก็สามารถเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดได้ เพราะสุขภาพนั้นเป็นเรื่องที่ไม่แน่ไม่นอน ดังนั้นการศึกษาการรักษาอาการป่วยด้วยวิธีนี้จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก ๆ
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- นั่งนาน ปวดหลัง แก้ได้ไม่ยาก
- ปวดกล้ามเนื้อหลัง (Myofascial Pain Syndrome)
- ปวดหัว มึนหัว ปวดกระบอกตา คล้ายไมเกรน