อาการชาตามหน้า เกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่?
อาการชาตามหน้า นับว่าเป็นอาการที่เป็นโรคยอดฮิตของคนในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในวัยทำงานที่อาการชาตามใบหน้าได้กลายเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? นั่นก็เป็นเพราะพฤติกรรม ท่าทางและการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในระหว่างวัน ถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญเป็นอย่างมากที่ส่งผลให้เกิดอาการชาดังกล่าวตามมา แม้จะไม่ได้ส่งผลอันตรายอะไรมากนัก แต่ก็ถือเป็นสัญญาณเตือนโรคร้ายอย่างหนึ่งเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่ควรเพิกเฉยต่ออาการนี้เป็นอย่างยิ่ง
อาการชาตามหน้า เกิดจากอะไร เป็นสัญญาณของโรคอันตรายอะไรบ้าง?
อาการชา สามารถเกิดได้ทุกส่วนในร่างกาย แม้กระทั่งการชาที่ใบหน้า โดยอาการชาที่ใบหน้านั้น สามารถเกิดได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงตั้งแต่วัยกลางคนจนถึงผู้สูงอายุ โดยสำหรับผู้สูงอายุนั้น อาการชาบนใบหน้าอาจเกิดจากการขาดสารจำเป็นต่าง ๆ และปัญหาด้านสุขภาพที่ส่งผลให้เกิดอาการชาขึ้น แต่สำหรับวัยกลางคน ก็จะสอดคล้องกับที่ได้กล่าวไว้เบื้องต้นว่ามักจะมาจากพฤติกรรมและท่าทางที่ผิดจากการใช้ชีวิตประจำวัน ส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงต่อระบบประสาทส่วนปลายและทำให้เกิดอาการชาบนใบหน้าในที่สุด
สาเหตุของอาการชาบนใบหน้า เกิดจากอะไรได้บ้าง?
อาการชาที่ใบหน้าสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งนอกจากการประสบอุบัติเหตุ และการเจ็บป่วยทางเส้นประสาทโดยตรงของแต่ละคนแล้ว ก็อาจเกิดจากปัจจัยที่เราไม่ทราบสาเหตุได้อีกด้วย ซึ่งเส้นประสาทต่าง ๆ สามารถแบ่งออกได้เป็น
เส้นประสาทสมองคู่ที่ 5
ส่วนใหญ่จะเกิดบริเวณใบหน้า โดยจะแบ่งออกเป็น 3 แขนง
- เส้นประสาทออพตัลมิก (Ophthalmic branch) จะเกิดอาการช่วงหน้าผาก ดวงตา และจมูก
- เส้นประสาทแมกซิลลารี (Maxillary branch) จะเกิดอาการช่วงแก้มทั้งสองข้าง (สีเหลือง)
- เส้นประสาทแมนดิบุลาร์ (Mandibular branch) จะเกิดอาการช่วงคาง ขากรรไกร ด้านข้างของใบหน้าและใบหูเล็กน้อย (สีส้ม)
เส้นประสาทคู่ที่ 7 (Facial nerve)
จะเกิดอาการช่วงลิ้นส่วนหน้าและใบหูชั้นกลาง
เส้นประสาทคู่ที่ 9 (Glossopharyngeal nerve)
จะเกิดอาการช่วงใบหู หลังโพรงจมูก คอหอย ลิ้นส่วนหลัง ทอนซิล และกล่องเสียง
เส้นประสาทคู่ที่ 10 (Vegas nerve)
จะเกิดอาการช่วงใบหูและเส้นประสาทไขสันหลังส่วนคอและหลังกะโหลกศีรษะ (สีม่วงและสีฟ้า)
แนวทางการรักษา
สามารถแบ่งแนวทางการรักษาได้หลัก ๆ 3 ทางด้วยกัน ดังนี้
การรักษาโดยการผ่าตัด
การผ่าตัดจะทำในกรณีที่มีอาการของโรครุนแรงและไม่หายในรายที่เป็นผลมาจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ถูกทำลายหรือฝ่อลีบ เช่น ผ่าตัดแก้ไขหนังตาที่ปิดไม่สนิท การต่อและเลี้ยงเส้นประสาทสมองคู่อื่นเพื่อนำมาใช้ทดแทนเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7
การรักษาด้วยยา
จะให้ได้ผลดีต้องกระทำโดยเร็วที่สุด ยาที่ใช้จะเป็นในกลุ่มสเตอรอยด์ ยาในกลุ่มวิตามินบีรวม หรือยาที่มีฤทธิ์รักษาเส้นประสาทส่วนปลายด้วย การใช้ยาต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น เพราะหากผู้ป่วยหายามารักษาเอง ก็อาจเกิดอันตรายกับร่างกายได้
การรักษาด้วยกายภาพบำบัด
ใช้การกระตุ้นไฟฟ้ากล้ามเนื้อใบหน้าที่มีการใช้ความร้อนประคบบริเวณใบหน้าที่มีอาการชา การออกกำลังกายกล้ามเนื้อใบหน้า
“การกระตุ้นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ” เครื่องมือรักษากล้ามเนื้อเพื่อกระตุ้นเส้นประสาทจากการทำกายภาพบำบัด
ตามปกติร่างกายของเราจะใช้โปรตีนในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย โดยโปรตีนจะถูกสังเคราะห์เพิ่มมากขึ้นเมื่อได้รับการกระตุ้นไฟฟ้า รวมทั้งประจุไอออน เมื่อถูกเหนี่ยวนำด้วยพลังงานไฟฟ้าจากภายนอก จะไปเร่งกระบวนการเมตาบอลิซึม (Metabolism) และเร่งกระบวนการลำเลียงสารอาหารเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเส้นประสาทซึ่งตามปกติจะสามารถถูกเร้าต่อเมื่อมีกระแสไฟฟ้าผ่าน โดยเมื่อได้รับพลังงานไฟฟ้าจากภายนอก จะสามารถเร้าเส้นประสาทที่อยู่ส่วนปลายด้วยเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าผ่านผิวหนัง ทำให้เกิดการตอบสนองการตื่นตัวของเส้นประสาทได้ โดยทั้งนี้ขึ้นกับ ชนิดของกระแสไฟฟ้า ความเข้มของกระแสไฟฟ้า ความถี่ของกระแสไฟฟ้า ตำแหน่งหรือบริเวณที่ติดขั้วไฟฟ้า และขนาดขั้วไฟฟ้า
ผลของการกระตุ้นไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องจะทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของเส้นใยกล้ามเนื้อและเส้นประสาททั้ง ในระยะสั้น และระยะยาวโดยพบว่า การกระตุ้นไฟฟ้ามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของกล้ามเนื้อในระดับเซลล์และโครงสร้างเซลล์ รวมถึงหน้าที่ของกล้ามเนื้อนั้นอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ผลลัพธ์ของการรักษาด้วยเครื่องมือชนิดนี้ การรักษาโดยการกระตุ้นไฟฟ้า สามารถแก้ไขปัญหากล้ามเนื้อได้อย่างละเอียดและตรงจุด ทำให้กล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ตรงบริเวณมัดที่มีปัญหาคลายและเพิ่มความยืดหยุ่นได้ โดยกลไกการกระตุ้นของกระแสไฟฟ้า ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด น้ำ และธาตุอาหาร ของเซลล์กล้ามเนื้อ ทำให้ผู้ที่มีปัญหากล้ามเนื้อ รู้สึกเบาสบายตัวทันทีหลังการรักษา ซึ่งจะสามารถทำให้อาการชาบนใบหน้าดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
แต่ท้ายที่สุด สิ่งที่จะทำให้ผู้ป่วยสามารถหายขาดจากอาการนี้ได้ คือ การทราบถึงสาเหตุที่แท้จริง และรักษาควบคู่กันไป เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะหากรักษาแต่อาการชาที่ถือว่าเป็นปลายเหตุ ก็จะกลับมาเป็นได้อีก ดังนั้นจึงควรรักษาที่ต้นตอเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำจะดีที่สุด
———————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วิดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวิดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- ปวดหัวตุ้บ ๆ ข้างขวา อาการแบบนี้เป็นไมเกรนหรือเปล่า?
- เครื่องมือกายภาพ 5 แบบมีอะไรบ้างแต่ละแบบรักษาอย่างไร
- 5 เหตุผล ที่คนยุคใหม่ต้องไป “คลินิคกายภาพบำบัด” มากขึ้น