ขับรถ ปวดสะโพก ทำยังไงดี หากปล่อยไปนาน ๆ จะเกิดอาการเรื้อรังหรือไม่?
ขับรถ ปวดสะโพก แก้ยังไงดี? มักเป็นคำถามที่คนขับรถหลาย ๆ คนต้องการคำตอบเป็นอย่างมาก เนื่องจากอาการปวดสะโพกถือเป็นอีกอาการหนึ่งที่เกิดจากการนั่งขับรถนาน ๆ ตีคู่มากับอาการปวดหลัง และ ไหล่ โดยหากมองเผิน ๆ อาการปวดเช่นนี้อาจเป็นอาการธรรมดา แต่ทราบหรือไม่ว่า หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดโรคร้ายแรงได้เลยทีเดียว ซึ่งสำหรับอาการปวดสะโพกที่มาจากการขับรถก็มีโอกาสที่จะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคร้ายแรงได้เช่นกัน ซึ่งคือโรคอะไรนั้น Newton Em Clinic มีคำตอบ
ขับรถ ปวดสะโพก หากปล่อยไว้อันตรายหรือไม่ แก้ไขยังไงดี?
ปวดหลัง สะโพก ต้นขา ลามมาถึงกล้ามเนื้อบริเวณน่อง บางครั้งก็ปวดคอ บ่า ไหล่ และนอนไม่หลับโดยไม่มีสาเหตุ อาการเหล่านี้อาจเกิดจากสาเหตุที่หลายคนไม่คาดคิด นั่นคือภาวะเครียดสะสมของกล้ามเนื้อที่ตึงตัวและหดเกร็งจากการนั่งขับรถผิดท่าเป็นเวลานาน ทั้งการนั่งหลังงอ เกร็งคอ และยกไหล่โดยไม่รู้ตัว
ทั้งนี้ จากงานวิจัยของ International Archives of Occupational and Environmental Health พบว่า คนที่ขับรถนาน ๆ หรือต้องเผชิญกับรถติดเป็นประจำ มีความเสี่ยงที่จะปวดหลังส่วนล่าง (Low Back Pain) และกล้ามเนื้อบริเวณสะโพกมากกว่าคนทั่วไปถึงสองเท่า ทั้งยังส่งผลต่อการเกิดโรคอ้วน เบาหวาน ความดัน และโรคที่เกี่ยวข้องกับความเสื่อมของกระดูกหรือข้อต่อเมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งจากนี้ Newton Em Clinic ได้นำเทคนิคที่จะช่วยให้ผู้ที่มีอาการสามารถรับมือกับอาการปวดเมื่อยและโรคร้ายแรงต่าง ๆ จากการขับรถได้อย่างสมบูรณ์แบบ
แต่ก่อนอื่น ผู้อ่านต้องมาทำความรู้จักกับภาวะอาการที่ผิดปกติของสะโพกที่อาจเกิดจากการขับรถกันเสียก่อน นั่นคือ “กล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท” นั่นเอง
“กล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท” อาการปวดสะโพกจากการขับรถ
อาการปวดร้าวลงขาจากการนั่งนานไม่ว่าจะเป็นการนั่งทำงาน หรือนั่งขับรถนาน เป็นอาการของกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท โดยกล้ามเนื้อสะโพกนั้นมีชื่อว่า piriformis ซึ่งกล้ามเนื้อมัดนี้มีเส้นประสาท sciatic ลอดผ่าน และเมื่อนั่งนาน กล้ามเนื้อ piriformis จะเกิดการตึงตัวจนไปกดบีบเส้นประสาท sciatic ทำให้มีอาการปวดสะโพกลึก ๆ ร้าวลงขาด้านหลังหรือบางรายอาจมีอาการชาร่วมด้วย
วิธีป้องกันการเกิดกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท
วิธีป้องกันการเกิดกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาทจากการขับรถ มีดังนี้
- หลีกเลี่ยงการนั่งหรืออยู่ในอิริยาบถเดิมนาน ๆ
- ปรับท่าทางการนั่ง ใช้หมอนรองบริเวณก้นเวลานั่งทำงานหรือนั่งขับรถ เพื่อลดแรงกดบริเวณก้น
- ยืดเหยียดกล้ามเนื้อสะโพกเป็นประจำเพื่อให้กล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่น
- ออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงให้แก่กล้ามเนื้อสะโพกเพื่อให้มีความทนทานต่อการใช้งาน
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อโรคนี้
โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในคนหลาย ๆ กลุ่ม โดยเฉพาะคนที่นั่งทำงานนาน ๆ ในออฟฟิศ ทำให้เกิดการงอสะโพก และมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะนี้ได้ คนที่ต้องนั่งท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ เช่น พนักงานออฟฟิศ พนักงานขับรถ พนักงานขายตั๋ว รวมถึงคนที่เคลื่อนไหวสะโพกมากเกินไป เช่น คนที่ออกกำลังกายหนัก ๆ นักวิ่ง ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้ได้
เมื่อมีอาการปวดที่สะโพกควรปฏิบัติอย่างไร?
ข้อควรปฏิบัติเบื้องต้นเมื่อเริ่มมีอาการ สามารถทำได้ดังต่อไปนี้
1. ประคบอุ่นบริเวณสะโพกและขา 20 นาทีต่อครั้ง
2. ยืดกล้ามเนื้อสะโพก
- นอนหงาย งอเข่าและงอสะโพกข้างที่มีอาการ ใช้มือดึงขาเข้าหาลำตัวจนรู้สึกตึงบริเวณสะโพก ค้างไว้ 15 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง
- นอนหงาย นำขาข้างที่มีอาการปวดไขว้ทับขาอีกข้างที่ไม่มีอาการ เป็นลักษณะเลข 4 จากนั้นใช้มือทั้ง 2 ข้างสอดใต้เข่าข้างที่ไม่มีอาการ ดึงเข้าหาลำตัวจนรู้สึกตึงบริเวณสะโพก ค้างไว้ 15 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง
- นั่งเก้าอี้ นำขาข้างที่มีอาการปวดไขว่ห้างแบบตั้งฉากบนขาอีกข้าง หลังตรง โน้มตัวไปด้านหน้าจนรู้สึกตึงบริเวณสะโพก ค้างไว้ 15 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง
3. ออกกำลังกายกล้ามเนื้อสะโพก
นอนตะแคง งอเข่างอสะโพก ส้นเท้า 2 ข้างติดกัน จากนั้นค่อย ๆ เปิดเข่าแยกออกจากกันเล็กน้อย ค้างไว้ 10 วินาที ทำ 10 ครั้งต่อรอบ 3 รอบต่อวัน
การป้องกันการเกิดโรค
สำหรับผู้ที่ต้องเดินทางด้วยการขับรถทุก ๆ วัน หรือต้องนั่งทำงานนาน ๆ วันละหลายชั่วโมง ถือว่าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป ดังนั้น จึงควรป้องกันโดยการ…
- คนที่ต้องนั่งทำงานนาน ๆ ควรเปลี่ยนอิริยาบถทุก ๆ 1 ชั่วโมง เช่น ไปเข้าห้องน้ำ ไปดื่มน้ำ เพื่อเปลี่ยนแปลงท่านั่ง ความเสี่ยงในการเกิดโรคก็จะลดลง
- ออกกำลังกายอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะในคนที่มีอาการของโรคนี้แล้ว ควรลดการออกกำลังกายที่ทำให้เกิดอาการปวดบริเวณก้น หรือการออกกำลังกายที่ต้องใช้กล้ามเนื้อบริเวณสะโพกมาก ๆ เน้นเป็นวิธีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อจะเหมาะสมมากกว่า
หากความรู้สึกปวดและชาบริเวณก้นหรือขาไม่ดีขึ้นใน 2-3 สัปดาห์ ควรรีบมาพบนักกายภาพบำบัดเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง
การรักษาทางกายภาพบำบัด
การรักษาทางกายภาพบำบัดสำหรับภาวะนี้ โดยทั่วไปจะเน้นการลดปวด คลายกล้ามเนื้อ และออกกำลังกายกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อให้มีความแข็งแรงและทนทาน เพื่อไม่ให้กลับไปเกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อซ้ำ โดยจะใช้เครื่องมือที่มีความทันสมัยโดยการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Shock wave เพื่อไปกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการซ่อมแซม ลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อ piriformis ลง ไม่ให้ไปกดเบียดเส้นประสาท และใช้เครื่อง high power laser ในการลดการอักเสบของเส้นประสาทที่ได้รับการกดเบียดจะทำให้อาการชาลดลงได้นั่นเอง
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วิดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวิดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- นั่งนาน ปวดหลัง แก้ได้ไม่ยาก
- ปวดกล้ามเนื้อหลัง (Myofascial Pain Syndrome)
- กายภาพบำบัดสันหลังคด ฟื้นฟูกระดูกได้โดยไม่ต้องผ่าตัด